ปิก้านหวางกง 比干王公

พระเจ้าซังไท่ติง ( 太丁 ) พระนามเดิมว่า ตั้ว เป็น จีตั้ว โอรสของพระเจ้าซังอู่อี่ ทรงพระนามว่า พระเจ้าซังอุ๋นติง หรือ พระเจ้าซังไท่ติง หรือพระเจ้าซังต้าติง หรือ ฝูติง หรือ เหวินอู่ติง กษัตริย์ราชวงศ์ซังองค์ที่ ๒๘ เสวยราชสมบัติ ๓ ปี ที่เมืองอิน ทรงมีโอรสที่สำคัญ คือ องค์ชายจีตี้อี่ องค์ชายจีปิกัน 比干 องค์ชายจีกี่จื้อ เมื่อพระเจ้าซังไท่ติงเสด็จสวรรคต องค์ชายจีตี้อี่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าซังตี้อี่ ( 帝乙 ) พระนามเดิมว่า เซียน เป็น จีเซียน โอรสของพระเจ้าซังไท่ติง พระเจ้าซังตี้อี่เสวยราชสมบัติ ๓๗ ปีเสด็จสวรรคต โอรสองค์รอง เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓๐ ทรงพระนามว่า พระเจ้าซังตี้ซิน ( 帝辛 ) พระนามเดิมว่า โจ้ว เป็น จีโจ้ว ทรงพระนามว่า พระเจ้าซังตี้ซิน หรือ พระเจ้าโจ้วซิน หรือพระเจ้าโจ้วหวาง เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซัง ต้องเสียอาณาจักรให้แก่พระเจ้าโจวอู่หวาง แห่งราชวงศ์โจว เสวยราชสมบัติได้ ๓๓ ปี ณ เมืองโม่ หรือ เฉาเกอ
องค์ชายจีปิกัน จึงเป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าโจ้วหวาง ปิกันกง ประสูติ ตรงกับวันที่ ๔ ค่ำ เดือน ๔ ตามปฏิทินจีน พี่น้องที่สำคัญสามองค์ คือ องค์ชายตี้อี่ และน้องชายคือ องค์ชายกี่จื้อ ปิกันกงทรงรับราชการมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดา สมัยพระเชษฐาธิราชและถึงสมัยหลานชายคือ พระเจ้าโจ้วอ๋อง
ปิกันกง 比干公 ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าหวงตี้ เป็นรุ่นที่ ๓๔ เมื่อนับจากพระเจ้าซังทัง ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซัง ทรงเป็นรุ่นที่ ๑๔ ตามตำนานกล่าวว่า ฮูหยินของพระองค์คือ นางเบ๋ง โอรสคือ ปิจู้ และอีกสองพระนามน่าจะเป็นโอรสด้วยคือ ปิจู้เค่ และ ปิจู้หิม ซึ่งต่างก็เข้ารับราชการในราชวงศ์ซัง ต่อมาทรงมีฮูหยินอีกคนหนึ่ง คือ นางเฉินสี ( ตั้งสี )
พระเจ้าโจ้วหวางโปรดฯให้ปิกันกง เป็นข้าหลวงเมืองเฉาเกอ ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้วย และยังทำหน้าที่เป็นผู้ถวายเรื่องเกี่ยวกับหัวเมืองถวายเครื่องราชบรรณาการ คอยรับเรื่องฎีการ้องทุกข์จากหัวเมืองและเมืองหลวง เมื่อมีการประชุมยังมีหน้าที่รับหนังสือกราบทูลจากเสนาบดีเพื่อยื่นให้พระเจ้าโจ้วหวางอีกด้วย ทรงเป็นข้าราชการฝ่ายเชื้อพระวงศ์และเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ถึงสองสมัย
ต่อมาพระเจ้าโจ้วหวางทรงมีสนมเอกชื่อ พระนางต๋าจี่ บุตรสาวเจ้าเมืองกิโจว ผู้มีสิริโฉมงดงามมากจนพระองค์ทรงลุ่มหลง ไม่ทรงนำพาต่อการบริหารบ้านเมือง ทรงใช้เวลาไปในการก่องสร้างตำหนักใหญ่โต พลับพลาที่ประทับหลายแห่ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ ทรงเชื่อฟังพระนางต๋าจี่กราบทูลให้ร้ายพวกขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนพระราชวงศ์ต่างถูกลงโทษประหารชีวิต ด้วยวิธีการเหี้ยมโหดทารุณ เช่น ให้สร้างแท่งทองแดงเอานักโทษมัดแล้วจุดไฟให้แท่งทองแดงร้อน ขุดบ่อปล่อยงูพิษแล้วผลักนักโทษลงไป ให้เดินบนแผ่นทองแดงที่เผาไฟจนร้อน เป็นต้น นักโทษเหล่านี้ล้วนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือพระราชวงศ์ที่ต่างกราบทูลทัดทาน หรือถูกพระนางต๋าจี่กลั่นแกล้งทั้งสิ้น รวมทั้งพระมเหสีฝ่ายซ้ายขวาและโอรสของพระเจ้าโจ้วหวางด้วย
ข้างหัวเมืองต่างพากันแข็งข้อไม่ยอมอ่อนน้อม พระองค์จึงโปรดฯให้นายพลทหารคือ เหวินจ้งเป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีก็ยังไม่สงบ ตามหัวเมืองและเมืองหลวงต่างเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม บ้านเมืองเกิดระส่ำระสาย แต่พระองค์ก็ยังไม่ทรงทุกข์ร้อนแต่ประการใด
เมื่อขุนนางผู้ใหญ่กราบทูลให้ทรงออกว่าราชการ ก็ทรงกริ้วทำโทษ พวกขุนนางต่างเข็ดขยาดหลายคนจึงหลีกลี้ไปต่างเมืองด้วยการลาออกจากราชการ พวกขุนนางบางคนต่างถวายฎีกาด้วยการให้ปิกันกงและเสนาบดีกราบทูลแทน หรือการถวายฎีกาขอศพขุนนางที่เป็นญาติไปฝังตามประเพณี ขุนนางบางคนเมื่อได้รับอนุญาตให้ลาออกได้เมื่อเดินทางกลับบ้านเดิมก็ถูกทำร้ายระหว่างทาง
ข้างเจียงจื่อหยาได้เข้ามารับราชการได้ไม่นานก็ถูกพระนางต๋าจี่กลั่นแกล้งจนต้องหนีไปรับราชการที่เมืองซีกี และเป็นที่ปรึกษาขององค์ชายจีฟาบุตรชายจีฉางเจ้าเมืองซีกี ซึ่งครั้งหนึ่งถูกขังคุกที่เมืองเฉาเกอ ต่อมาได้รับอภัยโทษให้กลับไปเมืองซีกีตามเดิมและได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์เป็น เหวินหวาง แห่งเมืองซีกี เหวินหวางทรงตั้ง เจียงจื่อหยา เป็นอัครมหาเสนาบดีว่าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน
ฝ่ายปิกันกงพยายามกราบบังคมทูลทัดทานหลายครั้งหลายเรื่องจนทำให้พระนางต๋าจี่และพระองค์ไม่พอพระทัย เช่น เรื่องพระองค์กับพระนางต่างพนันกันว่า ผู้หญิงมีครรภ์ที่จับมานั้นเป็นบุตรหญิงหรือชาย ด้วยการผ่าท้องดู เป็นต้น จึงพยายามหาทางกำจัดเสี้ยนหนามพระญาติองค์นี้เสีย
แล้ววันหนึ่งก็มาถึงเมื่อพระนางต๋าจี่แกล้งป่วยด้วยโรคประหลาด ต้องเสวยตับมังกรจึงจะหายป่วย จึงรับสั่งให้ปิกันกงเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า ปิกันกงมีหัวใจเป็นมังกร พระองค์ทรงต้องการหัวใจปิกันกงเอาไปรักษาพระนางต๋าจี่ ปิกันกงจึงถูกประหารควักเอาหัวใจออกมา ข้างจีปิจู้บุตรจึงขอพระราชานุญาตนำศพปิกันกงไปฝังไว้ที่นอกเมือง ปัจจุบันอยู่ในเมืองอุยฮุย ห่างออกไปทางทิศเหนือของตัวเมืองอุยฮุยประมาณ ๗ กิโลเมตร เมืองนี้ขึ้นกับจังหวัดซินเซียง มณฑลเหอหนาน
ข้างฝ่ายนางเฉินซื่อฮูหยิน ขณะนั้นนางกำลังตั้งครรภ์ได้สามเดือน เมื่อทราบข่าวว่าปิกันกงถูกประหารชีวิต นางเกรงกลัวราชภัยจะถูกผ่าท้องพนัน จึงพร้อมด้วยคนใช้จำนวนหนึ่งหนีออกจากเมืองหลวงเข้าป่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเทือกเขาถึงแม่น้ำหลุง และป่าตำบลฉางหลิน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอุยฮุยประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แล้วนางก็ให้กำเนิดบุตรชายตั้งชื่อเล่นว่า ฉื้อ
ฝ่ายจีฟา เมื่อเหวินหวางสิ้นพระชนม์ องค์ชายจีฟาจึงขึ้นครองเมืองซีกีและตระเตรียมกองทัพเพื่อไปปราบพระเจ้าโจ้วหวางที่เมืองเฉาเกอ ซึ่งในตอนนั้นเมืองเฉาเกอมีทหารเพียงเล็กน้อย เพราะต้องเกณฑ์ไปปราบหัวเมืองที่ยังไม่สงบมาหลายปีแล้ว เมื่อกองทัพจีฟายกมาถึงเกิดสู้รบกันขึ้น กองทัพของพระเจ้าโจ้วหวางพ่ายแพ้ จนพระองค์ต้องเสด็จหนีเข้าตำหนักจุดไฟเผาตำหนักและพระองค์เองจนเสด็จสวรรคต เป็นอันสิ้นราชวงศ์ซังประมาณก่อน พ.ศ. ๕๙๑
องค์ชายจีฟาจึงเข้าเมืองเฉาเกอ เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระเจ้าโจวอู่หวาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว ต่อมาภายหลังทรงย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองหาว ปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ขณะที่ยังประทับอยู่ที่เมืองเฉาเกอนั้น โปรดฯให้เจียงไท่กงประกอบพิธียกย่องวิญญาณผู้ที่เสียชีวิตในสนามรบทั้งสองฝ่ายรวม ๓๖๕ คน ให้ไปเป็นเทพประจำอยู่ตามเขตต่างๆและเป็นเทพประจำดวงดาวต่างๆด้วย ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้ทรงให้บำเหน็จรางวัลทุกคน
ทรงเห็นว่า ปิกันกง เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีเป็นอย่างสูงจนตัวตาย จึงโปรดฯให้สร้างสุสานเพื่อเชิดชูผู้กล้าหาญมีความสัตย์ซื่อ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงเซ่นไหว้พระศพปิกันกงตามอย่างธรรมเนียม
พระเจ้าโจวอู่หวาง รับสั่งให้นางเฉินซื่อฮูหยินและบุตรชายปิกันกงคือ ฉื้อเข้าเฝ้า พร้อมกับพระราชทานนามให้ฉื้อใหม่ว่า เจียน และพระราชทานแซ่ให้เจียนว่า หลิน ซึ่งแปลว่า ป่าไม้ เพราะเจียนถือกำเนิดในป่า เป็น หลินเจียน พร้อมทั้งให้ความอุปถัมภ์แก่ครอบครัวนี้ พระองค์อยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๖ ปีก็เสด็จสวรรคต องค์ชายจีซ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าโจวเฉิงหวาง หลินเจียนเมื่ออายุได้ ประมาณ ๑๕ ปี ได้เข้ารับราชการในรัชกาลนี้
หลังจากที่พระเจ้าโจวอู่หวางได้เสด็จไปเซ่นไหว้ปิกันกงครั้งนั้นแล้ว เข้าใจว่ากษัตริย์องค์ต่อๆมาคงไปสักการะเช่นเดียวกัน รวมทั้งผู้ที่เคารพปิกันกงในฐานะที่เป็นผู้กล้าหาญและซื่อสัตย์จนตัวตาย ขงจื่อ ปรมาจารย์ลัทธิขงจื่อพร้อมลูกศิษย์รวมทั้ง หลินฟ่าง ผู้สืบสายสกุลหลินและเป็นศิษย์ก้นกุฏคนหนึ่งของขงจื่อ ได้เดินทางไปสักการะที่สุสาน ขงจื่อได้ใช้ปลายดาบสลักข้อความบนแผ่นศิลาว่า สุสานปิกันกง ราชวงศ์ซัง ปักไว้ที่หน้าหลุมพระศพปิกันกง
สมัยฮ่องเต้เว่ยเหวินตี้ ( โจผีหรือเฉาพี ) แห่งราชวงศ์เว่ย ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๗๖๓ ๗๖๙ โปรดฯให้สร้างอาคารศาลาศาลเจ้าหน้าสุสานขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งสลักคำสรรเสริญบนแผ่นศิลาถึงความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ของปิกันกงปักไว้ที่บริเวณสุสาน
ฮ่องเต้ถังไท่จง ( หลี่ซื่อหมิน ) แห่งราชวงศ์ถัง ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๐ ๑๑๙๒ ได้เสด็จยกทัพไปปราบเกาหลี โดยเสด็จออกจากเมืองหลวงฉางอานผ่านตำบลอุยฮุย ทรงแวะไปที่สุสานปิกันกงพร้อมด้วยนายทหารและพลเรือนที่ติดตามไปในกองทัพ ทรงสักการะเซ่นไหว้หน้าสุสานปิกันกง แล้วทรงประกาศให้สถาปนาปิกันกง เป็น ไท่ซือแห่งราชวงศ์ซัง พร้อมทั้งโปรดฯให้แกะสลักรับสั่งดังกล่าวบนแผ่นศิลาปักไว้หน้าสุสานปิกันกง
รัชสมัยฮ่องเต้หมิงซื่อจง (จูโฮ่วชง ) แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งทรงครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. ๒๐๖๕ ๒๑๐๙ ในปีรัชกาลเจี่ยจิ้นที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๐๘๑ มีรับสั่งให้แกะสลักแผ่นศิลาเพื่อสรรเสริญปิกันกงและปิเจียนกง ดังข้อความว่า ปิเจียน บุตรปิกันกง หลบภัยในป่า ใช้แซ่หลินเป็นสกุล
ฮ่องเต้เกาจง ( อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หงลี่ ) หรือ ฮ่องเต้เฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง ทรงครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ. ๒๒๗๙ ๒๓๓๘ ณ กรุงปักกิ่ง โปรดฯให้แกะสลักคำสรรเสริญปิกันกงบนแผ่นศิลาเพราะความกล้าหาญและมีความสัตย์ซื่อต่อแผ่นดินจนตัวตาย แล้วโปรดฯให้เอาไปปักไว้หน้าสุสานพร้อมทั้งประกอบพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ตามธรรมเนียม
บรรดากวีเอกต่างไปคารวะและแกะสลักคำโคลงกลอนบนแผ่นศิลาปักไว้บริเวณสุสาน กวีที่มีชื่อเสียงสมัยราชวงศ์ถัง เช่น หลี่เปย หวางเว่ย และยังมี เมิ่งเจี่ยว เต้าเฉียนหมิง เป็นต้น
สุสานปิกันกงได้รับการบูรณะมาตลอดทุกยุคสมัยราชวงศ์จนขยายอาณาเขตใหญ่โต สุสานหันไปทางทิศใต้มีเนื้อที่ ๑๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร เป็นสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ประกอบด้วยกำแพงล้อมรอบ หน้าประตูมีประตูสามชั้น มีระเบียงสองข้างประกอบด้วยศิลาจารึกกว่า ๖๔ หลัก ซึ่งมีทุกยุคสมัยราชวงศ์ เช่นที่ปรากฏตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หงวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง หลักศิลาจารึกเหล่านี้เป็นคำสรรเสริญและไว้อาลัยแด่ปิกันกง
ปิกันกง ทรงได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งของชาวจีน ผู้ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งเพชรนิลจินดาและความมั่งคั่ง รูปประทับอยู่บนหลังเสือ หรือที่เรียกว่าไฉเสิน ฝ่ายเหวินไฉเสิน
ในแต่ละปีจะมีชาวตระกูลแซ่หลิมทั้งในประเทศจีนและทั่วทุกมุมโลกต่างไปสักการะเซ่นไหว้ท่านที่สุสานเมืองอุยฮุย มณฑลเหอหนาน
สุสานตั้งอยู่ห่างจากเมืองอุยฮุยประมาณ ๗ กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือของตัวเมือง หนทางสะดวก สองข้างทางมีนาข้าวสาลีและการชลประทาน เนื้อที่ของสุสานประมาณ ๑๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร ด้านหน้าทางเข้าซ้ายมือมีที่จอดรถยนต์กว้างขวาง จนถึงซุ้มศิลาสามประตูขนาดใหญ่มีหลังคาสองชั้นทาสีสวยงาม ใกล้ประตูมีเสาศิลาแกะสลักข้างละเสา ตลอดแนวเส้นทางมุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ปิกันกงที่ดูเด่นสง่า มีสัตว์ต่างๆแกะสลักหินเป็นคู่ๆหันหน้าเข้าถนน เช่น ช้าง อูฐ ม้า แพะ สิงโต ขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือน เช่นเดียวกับสุสานกษัตริย์ ซึ่งมี ๑๘ คู่ หลังอนุสาวรีย์ ด้านซ้ายมือมีอาคารอเนกประสงค์ที่เพิ่งก่อสร้างเปิดทำการปี ๒๕๔๗ โดยมหาเศรษฐีแซ่หลิมชาวอินโดนีเซีย ก่อนที่จะถึงประตูแรก มีฉากกำแพงศิลาขนาดใหญ่ประกอบเครื่องเคลือบด้านหน้าตรงกลาง
ตรงหน้าประตูสองข้างบันไดมีสิงโตหนึ่งคู่ เหนือประตูเป็นศาลามุงหลังคาแบบโบราณผนังสีแดง สองข้างมีช่องหน้าต่างข้างละบานและมีกำแพงสีแดงต่อออกไปทั้งสองด้านยาวออกไปจดกำแพงข้างๆเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่อ้อมไปถึงหลังที่ฝังศพ ผ่านประตูแรกเข้าเขตชั้นที่สอง สองข้างปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ มีอาคารอเนกประสงค์จำหน่ายหนังสือและเป็นที่นั่งพัก เมื่อผ่านประตูชั้นที่สองเข้าไปแล้ว สองข้างมีศิลาจารึกคำไว้อาลัยและสรรเสริญปิกันกง
เมื่อผ่านประตูชั้นที่สามจึงถึงบริเวณศาลเจ้าปิกันกง ทั้งสองข้างมีหลักสิลาจารึกขนาดต่างๆจากฮ่องเต้หลายราชวงศ์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ นักปราชญ์ อยู่ใต้ต้นสนไซเปรสอายุเป็นร้อยๆปี ตลอดริมกำแพงทั้งสองด้านมีอาคารประดับรูปปั้น ปิเจียนกง มารดา ด้านขวามีรูปปั้นและรูปวาดขุนนางผู้ใหญ่ที่สืบตระกูลหลิม อาคารตรงกลางเป็นที่สถิตรูปปั้นปิกันกง ด้านหน้ามีกระถางธูปเทียนและที่เผากระดาษทอง หลังอาคารนี้ มีศาลาหลังเล็กๆประดับศิลาจารึกของขงจื่อที่ใช้ปลายดาบจารึกอักษรว่า สุสานปิกันกง ราชวงศ์ซัง หลังศาลานี้เป็นหลุมศพปิกันกงพูลดินรูปหลังเต่าสูงประมาณเมตรเศษล้อมด้วยแผ่นศิลาเป็นรูปวงกลมกว้างประมาณยี่สิบเมตร ปลูกหญ้าเขียวขจี ตรงด้านหน้าวงกลมทำเป็นส่วนเว้าเข้าไปเพื่อตั้งกระถางธูปเทียนขนาดใหญ่
อนึ่งด้านขวามือชั้นที่สามนี้มีประตูออกไปยังอุทยานไม้ดอกไม้ประดับและเก๋งจีนสวยงามมาก
ในพงศาวดารจีน ปิกันกงได้รับการกล่าวขวัญถึงและเปรียบเทียบให้เห็นความกตัญญูซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินแทบทุกยุคสมัย เพื่อเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังและบุคคลที่จะเป็นฮ่องเต้หรือนายพลขุนศึกตลอดจนข้าราชการระดับชั้นต่างๆให้มีจิตสำนึกถึงความซื่อสัตย์กตัญญูเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ประวัติแบบพิสดารของท่านหาอ่านได้จากพงศาวดารจีนเรื่องห้องสิน
บทสวดสรรเสริญปิก้านหวางกง
商相林祖比干寶誥
Shang Xiang Li Zu Bi Gan Bao Gao (Praise Mantra)
志心皈命禮。
Zhi Xin Gui Ming Li
堯之司徒。國號大商。
Yao Zhi Si Tu, Guo Hao Da Shang
黃帝乃祖。殷室乃宗。
Huang Di Nai Zu, Yin Shi Nai Zong
丁帝子嗣。乙帝同弓。
Ding Di Zi Si, Yi Di Tong Gong
子為姓氏。比干稱呼。
Zi Wei Xing Shi, Bi Gan Cheng Hu
輔佐辛帝。廣大殷商。
Fu Zuo Xin Di, Guang Da Yin Shang
紂之叔父。宰輔加封。
Zhou Zhi Shu Fu, Zhai Fu Jia Feng
生為聖賢忠臣。
Sheng Wei Sheng Xian Zhong Chen
七竅玲瓏丹心。
Qi Qiao Ling Long Dan Xin
有過不諫忠非。
You Guo Bu Jian Zhong Fei
畏死不言名廢。
Wei Si Bu Yan Ming Fa
一片敢勇成仁。
Yi Pian Gan Yong Cheng Ren
萬古長存孝義。
Wan Gu Chang Cun Xiao Yi
至真至誠。至仁至勇。
Zhi Zhen Zhi Cheng, Zhi Ren Zhi Yong
開林宗嗣始祖。
Kai Lin Zong Si Shi Zu
殷商忠仁宰相。
Yin Shang Zhong Ren Zhai Xiang
比干王公。
Bi Gan Wang Gong
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
Title : Bigan Wang Gong : The Anchestor of the Lin Clan.
: Somboon Kantakian
**********
ภาพบางส่วนอนุสรณ์สถาน
ปิก้านหวางกง
*****








********
|