Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาคม
  LIN (SURNAME)
   China's Lin Clan Network
   Chaoshan Lin
   สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย
  ชุมชนชาวฮากกา
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  China Daily
  China News
  People's Daily Online
  Xinhua
  China Youth Daily
  Bangkokpost
  มติชน
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  ผู้จัดการ
  คมชัดลึก
  กรุงเทพธุรกิจ
  บ้านเมือง
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  โพสต์ทูเดย์
  สยามรัฐ
  บางกอกทูเดย์
  โลกวันนี้
  เส้นทางเศรษฐกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
มุมนักเสี่ยงโชค
  ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
  ตรวจสลากย้อนหลัง
  ผลสลากออมสิน
  ธกส.ออมทรัพย์ทวีสิน
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  ธนาคารไทยพาณิชย์
  ธนาคารกรุงเทพ
  ตลาดหลักทรัพย์ - หุ้น
  ตลาดหุ้น
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์อินโฟ
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

หลิมฮู้ไท่ซือกง 九皇太師公

 

 

        หลิมไท่ซือ 林太師 หรือ หลิมฮู้ไท่ซู หรือ หลิมไท่ซือกง 林太師公เป็นเทพเจ้าจีนที่ทางลัทธิเต๋าได้ยกย่องขึ้นเป็นชั้น ไท่ซือ หรือที่ปรึกษา ในนามว่า จิ่วหวงไท่ซือกง 九皇太師公 ผู้เป็นที่ปรึกษาขององค์กิ่วหวงต้าตี้ หรือ กิวอ๋องไต่เต่ ทั้ง ๙ พระองค์ เทพเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือเป็นองค์ประธานของศาลเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือที่ภูเก็ต สิงคโปร์ มาเลเซีย ตลอดจนประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ รวมทั้งไต้หวันและแถบมณฑลฝูเจี้ยน เป็นต้น

        หลิมไท่ซือกง เดิมชื่อ  เจ๊ะฉ้วน แซ่หลิม หรือ หลินเจ๊ะฉ้วน 林偕春ชื่อรองว่า หลินฟุ๋หยวน 林孚元 หรือ ลิมเทียนโจ๊ว ถือกำเนิดในตระกูลแซ่หลิมที่ตำบลอวิ๋นเฉี้ยว หรือ ฮุนเสี้ยว เมืองจ้างโจว  มณฑลฝูเจี้ยน หรือ ฮกเกี้ยน เมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๐ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้หมิงซือจง ( จูโฮ่วชง ) ในปีรัชกาลเจี่ยจิ้งที่ ๑๖ จากครอบครัวที่มีฐานะและการศึกษา ในวัยเด็กหลินมีความเฉลียวฉลาด บิดาจึงได้สอนการเขียนอ่านพื้นฐานและความรู้ทั่วไป เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ารับราชการ หลินจึงเรียนรู้ได้รวดเร็วในวิชาศิลปศาสตร์ทั้ง ๖ สาขา คือ ยุทธศาสตร์การสงคราม กฎหมายพลเรือน การจัดเก็บภาษี เกษตรกรรม ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ลัทธิขงจื่อ รวมทั้งวิชาอื่นๆซึ่งแต่เดิมได้มีการเรียนการสอนกัน เช่น วิชา ดนตรี เลขคณิต การเขียน พิธีกรรมต่างๆ การทหาร การใช้อาวุธต่างๆ การขี่ม้า เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีสติปัญญาความสามารถ จึงเรียนรู้ทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ารับราชการและการป้องกันตัวเอง

        ในปีพ.ศ. ๒๑๐๔ เมื่อหลินอายุได้ ๒๔ ปี จึงสมัครสอบเข้ารับราชการ เป็นการสอบระดับอำเภอ  เขาสอบได้ในระดับ เซิงหยวนหรือ ซิ่วไฉ หรือ ซิวจ๋าย เทียบได้กับระดับปริญญาตรี หากสอบได้ที่หนึ่งเรียกว่า อ้านโสว หรือ อันซื่อ ในระดับนี้เปิดสอบทุกปี

        ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๑๐๗ เขาเดินทางไปเมืองจ้างโจว เข้าสมัครสอบในระดับมณฑล เรียกว่า จู่เหยิน เทียบได้กับระดับปริญญาโท จู่เหยินคนใดสอบได้ที่หนึ่งเรียกว่า เจ๊ะหยวน การสอบระดับนี้ จะเปิดสอบทุกสามปี หลินสอบได้ระดับจู่เหยิน เขาจึงเดินทางเข้ากรุงปักกิ่ง เพื่อสมัครสอบในระดับเมืองหลวงต่อไป

        ที่กรุงปักกิ่ง หลินจึงสมัครเข้าสอบในระดับขั้นสูงสุดของประเทศ ที่เรียกว่า จิ้นซื่อ หรือ จินสือ เทียบได้กับระดับปริญญาเอก ผู้ที่สอบผ่านในระดับนี้สามารถเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ฮ่องเต้ได้ และมีงานรอให้ทำมีสวัสดิการพร้อม ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุด ห้าถึงสิบอันดับแรก เข้าไปสอบต่อหน้าพระพักตร์  ผู้ที่ทรงโปรดฯมากที่สุดเมื่อทรงฟังการพูดได้รับตำแหน่ง เรียกว่า จ้วงหยวนหรือ จอหงวน อันดับสองเรียกว่า ป๋างเอี๋ยนหรือ ปาอั้น อันดับสามเรียกว่า ทั่นฮั้ว หรือ ทัมฮวย ปรากฏว่าหลินสอบได้ในระดับจิ้นซื่อ เมื่อพ.ศ. ๒๑๐๘ เมื่อเขาอายุได้ ๒๘ ปี

        หลินจึงเริ่มรับราชการในสถาบันฮั่นหลินตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๐๘ จนถึงปีพ.ศ. ๒๑๑๑ ในสมัยฮ่องเต้หมิงซือจง เขาได้รับหน้าที่เป็นอาลักษณ์จดหมายเหตุพระราชกิจของฮ่องเต้

        ในขณะที่ภายในราชสำนัก ในปีพ.ศ. ๒๑๑๕ ฮ่องเต้หมิงซือจง ( จูโฮ่วชง) เสด็จสวรรคต  องค์ชายจูอี้จวิน ราชโอรส อายุ ๙ พรรษาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นฮ่องเต้หมิงเสินจง ใช้ปีรัชกาลว่า ว่านลี่ หรือบ้วนและ จึงมักเรียกขานพระนามว่าฮ่องเต้ว่านลี่  ทางด้านการปกครองมีอัครมหาเสนบดีชื่อ เตียวกือเจี้ย หรือ จางจิ๋เจี้ง 张居 เป็นผู้บริหารราชการแทนพระองค์ ด้วยฮ่องเต้องค์ก่อนทรงฝากฝังไว้ อีกประการหนึ่งภรรยาจางจิ๋เจิ้งเป็นไทไท่พระนมขององค์ชายจูอี้จวินมาก่อน จางจึงเป็นผู้ทรงอิทธิพล เป็นพระอาจารย์ของฮ่องเต้น้อยด้วย ดังนั้นในระยะ ๑๐ ปีหลัง เขาและบุตรชายญาติพี่น้องตลอดจนพรรคพวกได้สร้างอิทธิพล โกงกินบ้านเมือง ขูดรีดภาษี เป็นสมัยพวกกังฉินครองเมือง ทำให้ราษฎรได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนไปทั่ว พวกขุนนางตงฉินจึงอยู่แทบไม่ได้ ส่วนฮ่องเต้น้อยเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มทรงอึดอัดพระทัยกับการกระทำของจาง แต่ด้วยความที่ทรงผูกพันกับครอบครัวแซ่จาง จึงทรงทนซึ่งหลายเรื่องที่ไม่ทรงทราบ

        ในปีพ.ศ. ๒๑๑๖ ตามประวัติกล่าวว่า หลินได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของฮ่องเต้ ที่เรียกว่า “ไท่ซือ” ด้วยเคยเข้าไปสอนหนังสือให้ฮ่องเต้มาก่อน

        อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่หลินเป็นคนตงฉิน เขาจึงเกิดข้อขัดแย้งกับจางจิ๋เจิ้ง จึงถูกลดตำแหน่งให้ย้ายไปรับราชการยังที่ห่างไกล เขาจึงขอลาออกจากราชการ แล้วกลับไปอยู่บ้านที่ฝูเจี้ยน

         ที่เมืองหลวง การกระทำของพวกกังฉิน ไม่ได้รอดสายตาของพวกขุนนางตงฉินไปได้ พยายามโค่นอำนาจของตระกูลจาง โดยเฉพาะจางจิ๋เจิ้ง ซึ่งมีไฮ้สุยหรือไห่รุ่ย 海瑞 ( อ่านประวัติไฮ้สุย ) ขุนนางผู้ใหญ่กลุ่มตงฉินที่รับราชการมาถึงสามรัชกาลเป็นหัวเรือ เขาจึงทำฎีกากล่าวโทษจางจิ๋เจิ้ง

        จากหนังสือพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หมิง กล่าวไว้ตอนหนึ่งสรุปว่า...

        ไฮ้สุยต้องการให้ตระกูลแซ่เอี้ย ที่สืบสายนักรบขุนศึกมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรและที่นาให้ราชการอันเป็นมรดกตกทอดสืบกันมา แต่จางได้ให้ข้าหลวงไปเก็บภาษีจากครอบครัวนี้ ทำให้ไทไท่เอี้ยเหลงผอโกรธแค้นมาก จึงอพยพครอบครัวและผู้คนบริวารไปอยู่เกาะชิโกกุ นอกเขตแดนจีน

        ไฮ้สุยจึงทำหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งถึงเอี้ยไทไท่ โดยให้หลิมเทียนโจ๊ว ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มขุนนางตงฉิน ที่รับราชการอยู่สถาบันฮั่นหลิน หลิมพร้อมด้วยตันกุยผู้ช่วยจึงเดินทางไปยังเกาะชิโกกุ ยื่นหนังสือให้เอี้ยไทไท่ แล้วพักอยู่ที่เกาะชิโกกุคืนหนึ่ง จึงรีบกลับเมืองหลวง พร้อมหนังสือตอบรับของเอี้ยไท่ไท่

        เมื่อถึงเมืองหลวง หลิมเทียนโจ๊วจึงนำหนังสือจากไท่ไท่ไปมอบให้ไฮ้สุยและซือเตียนเตงก็กกง ไฮ้สุยจึงนำหนังสือของเอี้ยไทไท่ขึ้นถวายฮ่องเต้ ใจความว่า...  ถ้าฮ่องเต้ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม ขุนนางและราษฎรก็จะมีความสุข บ้านเมืองก็จะเรียบร้อยทั่วราชอาณาจักร แต่เตียวกือเจี้ยขุนนางกังฉินทำให้บ้านเมืองแปรปรวน มักใหญ่ใฝ่สูง ทำเทียมเชื้อพระวงศ์ ซื้อขายตำแหน่งขุนนาง ขูดรีดภาษีและค่านา ริบเอาไร่นาเป็นของตนเอง กลั่นแกล้งฆ่าราษฎร ทำให้ราษฎรเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ขอให้ฮ่องเต้ฆ่าเตียวกือเจี้ยเสีย บ้านเมืองก็จะได้มีความสุขสืบไป พร้อมกันนี้นางได้ยกกองทัพมาด้วย ถ้าหากฮ่องเต้กำจัดพวกขุนนางกังฉินเสีย นางก็จะยกกองทัพกลับโดยเร็ว...

        ฝ่ายไฮ้สุยได้นำหลักฐานพยานต่างๆ ที่กล่าวโทษเตียวกือเจี้ยขึ้นกราบทูล เมื่อหลักฐานเป็นที่แน่ชัด เขายอมรับผิด จึงถูกปลดจากตำแหน่ง ริบทรัพย์สมบัติที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาของหลวงไปเป็นของตนเองกลับเข้าหลวงสิ้น พร้อมกับส่งบุตรชายสองคนไปให้กองทัพเอี้ยไทไท่ รวมทั้งทรัพย์สมบัติที่ยึดมาได้ให้เป็นรางวัลแก่นาง กองทัพเอี้ยไทไท่จึงยกทัพกลับ

        ด้วยความดีความชอบครั้งนี้ หลิมเทียนโจ๊วได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นที่ ฮั่นหลิมฮักสือ... เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๕ ภายหลังจากที่จางจิ๋เจิ้งถึงแก่กรรม

        หลินจึงเข้ารับราชการอีกในปีพ.ศ. ๒๑๒๗ ในปีรัชกาลว่านลี่ที่ ๑๒ ในตำแหน่งประธานกรรมการการสอบไล่ ๒ มณฑล อย่างไรก็ตาม การสอบไล่ในทุกระดับ มีการทุษจริตให้สินบาทคาดสินบนแก่บรรดากรรมการผู้ใหญ่ผู้คุมสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวง เมื่อรับทรัพย์เดินเหินแล้ว จึงต้องทำตามที่ตนรับปากผู้ที่เอาเด็กมาฝากให้สอบได้ ซึ่งทำความหนักใจให้แก่หลินมาก เพราะเขาเป็นคนตงฉิน เมื่อเขาไม่รับ ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงจึงสั่งปลดเขา แล้วให้ย้ายไปรับตำแหน่งอื่น

        หลินจึงถูกการเมืองในราชสำนักเล่นงานอีกครั้งหนึ่ง เขาจึงลาออกจากราชการกลับไปอยู่บ้านตามเดิม เป็นเวลาถึง ๑๖ ปี ในช่วงนี้เขาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน ในเรื่องการขูดรีดภาษีอากรและค่านาให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้เขาไปขัดผลประโยชน์จากพวกขุนนางที่เก็บภาษี ทำให้เขาได้รับอันตราย

         หลินเจ๋ะฉ้วน ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๑๕๐ รวมอายุได้ ๗๑ ปี ศพได้รับการฝังที่เขาชิเฉี้ยงซาน มณฑลฝูเจี้ยน

        ในช่วง ๑๖ ปีนี้ เขาได้เขียนผลงานเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการเมืองในราชสำนัก การเศรษฐกิจ การทหาร และกิจการด้านพลเรือน ซึ่งเป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับการค้นคว้าวิจัยในสมัยราชวงศ์หมิงเป็นอย่างดี ต่อมาได้มีผู้รวบรวมไว้ชื่อ อวิ๋นซานจิ๊ซื่อ  云山居士

        ตามลัทธิเต๋า ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ เขาได้ห้ามปรามพวกอันธพาลที่เข้าทำลายศาลเจ้า เมื่อความวุ่นวายสงบ เขาจึงทราบว่าเป็นศาลเจ้าเพื่อบูชาเทพกิวอ๋องไต่เต่หรือ จิ่วหวางต้าตี้ หลังจากกลับบ้าน เขาฝันว่าได้มีองค์เทพผู้แทนองค์กิวอ๋องไต่เต่ได้เข้ามาหา เพื่อแสดงให้ทราบว่า องค์กิวอ๋องไต่เต่ทรงพอพระทัยในการกระทำของเขา ที่ช่วยป้องกันศาลเจ้าไม่ให้ถูกทำลาย ในความฝันนั้น พระองค์ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ปรึกษา หรือ ไท่ซือ ขององค์กิวอ๋องไต่เต่ด้วยในนามว่า “กิวอ๋องไต่เต่ไท่ซือกง” หรือ "จิ่วหวางต้าตี้ไท่ซือกง”  วันต่อมาเขาเดินทางไปยังศาลเจ้าดังกล่าว ปรากฏว่า มีเก้าอี้ตัวหนึ่ง สำหรับให้เขานั่ง

        ในปีพ.ศ. ๒๔๒๖ ปลายสมัยราชวงศ์ชิง ทางลัทธิเต๋าได้มีมติยกย่อง หลินเจ๊ะฉ้วน เป็น เทพเจ้าองค์หนึ่ง และใช้ชื่อว่า กิวอ๋องไต่เต่ไท่ซือกง หรือเป็นที่เรียกขานทั่วไปว่า หลิมไท่ซือ หรือ หลิมฮู้ไท่ซือกง หรือ หลิมฮู้ไท่ซือ พร้อมกับสร้างศาลเจ้าให้ด้วย และใช้ชื่อศาลเจ้าว่า “ฮุนซานเก้ง” หรือ “อวิ๋นซานกง” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกบ้านเดิมของเขา คือ อวิ๋นเสี้ยว

        เมื่อชาวฮกเกี้ยนได้เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฯลฯ พวกตระกูลแซ่หลิมต่างได้สร้างศาลเจ้าขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปของท่าน เช่นในปีพ.ศ. ๒๔๔๕ ครอบครัวแซ่หลิม ที่สิงคโปร์ได้สร้างศาลเจ้าฮุนซานเก้งขึ้น

        ที่ภูเก็ต ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือน่าจะสร้างครั้งแรกที่ตีนเลหรือตำบลเชิงทะเล ประมาณร้อยปีเศษแล้ว โดยคนในตระกูลแซ่หลิมบ้านตีนเล โดยใช้ชื่อศาลเจ้า ฮุนซานเก้ง แล้วขยายมายังเมืองภูเก็ตที่ถนนทุ่งคา ที่บ้านสามกองถนนเยาวราชโดยครอบครัวแซ่หลิมจากตำบลกะทู้ 

        หลิมฮู้ไท่ซือ จึงเป็นบรรพบุรุษคนหนึ่งในตระกูลแซ่หลิม ที่ได้รับการยกย่องในคุณงามความดีในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เมื่อถึงแก่กรรมไปแล้ว ผู้คนก็ยังเชิดชูอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้

 

           จากป้ายสรรเสริญคุณงามความดีที่ปรากฏในศาลเจ้าอวิ๋นซานกงที่สิงคโปร์

 

 

风清吹及民


中采色又添新

极无边随感化

尊有道足由因

 

 

ถอดความย่อเป็นคำโคลงว่า

 

        หลินไซร้คืออากาศ          เพื่อมวล  ชนนา

ศูนย์พำนักใหม่ล้วน                  สีสรรค์

อารมณ์ยิ่งใหญ่ชวน                  ปรับใช้  ไม่สิ้น

รู้ด้วยเหตุผลนั้น                        สู่ทางจรลี

 

                            ********

 

               :   สมบูรณ์ แก่นตะเคียน     ๑๒  มิถุนายน  ๒๕๕๓

 

Title         :   Lin Tai Shi Gong

 

               :  Somboon Kantakian

 

 

 

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน