สงครามฝิ่น พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๓๘๕
ฝิ่นได้นำเข้ามาขายในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยอังกฤษได้นำเข้ามาในนามบริษัทอีสต์อินเดีย จำกัด แต่ด้วยวิธีทางการเมืองของจีน ทำให้อังกฤษค้าขายลำบาก สิ่งที่อังกฤษต้องการก็คือ ใบชา ผ้าไหม ฝ้าย แต่การสมดุลทางการค้าปรากฏว่า อังกฤษขาดดุลการค้ากับจีน อังกฤษจึงหาวิธีแก้ด้วยการนำเอาฝิ่นเข้ามาขาย โดยอ้างว่าฝิ่นเป็นยา ต่อมาชาวจีนจึงติดฝิ่นกันงอมแงม ในช่วงเริ่มพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ปรากฏว่าพวกที่ลอบนำฝิ่นเข้ามาขายในจีนอย่างมโหฬาร ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ทั้งๆที่รู้ว่าผิดกฎหมายของจีน ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๓ ๒๓๗๔ ได้มีการนำฝิ่นเข้าจีนถึง ๒๑ ,๘๔๙ หีบ และจาก พ.ศ. ๒๓๗๓ ๒๓๘๐ อีก ๒๘ ,๓๐๗ หีบ ซึ่งรวมแล้วกว่า ๓๕ ,๕๐๐ หีบ ช่วงระยะ พ.ศ. ๒๓๘๑ ๒๓๘๒ ราษฎรทั่วประเทศติดฝิ่นกันงอมแงม เงินทองหมดไปกับการสูบฝิ่น ทั้งๆที่ทางราชสำนักได้ประกาศห้ามจำหน่ายและสูบฝิ่นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๙ ดังกล่าวแล้ว ชนต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษ ใช้วิธีข่มจีนด้วยกำลังทางทหารคือกองเรือ และใช้วิธีการติดสินบนพวกขุนนางกังฉินชั้นสูงมณฑลกว่างตง ทั้งนี้เดิมจีนอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในจีนได้เฉพาะที่กว่างตงเท่านั้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๐ แล้ว โดยให้พักรอที่มาเก๊าก่อน ดังนั้นแหล่งลักลอบค้าฝิ่นแหล่งใหญ่ จึงอยู่ที่มณฑลกว่างตงและพื้นที่รอบๆแถบนั้น
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ส่งนายพลเติ้งติงเฉินให้ไปแก้ปัญหาการค้าฝิ่นและการเสพยาที่กว่างตง ได้สำเร็จไประดับหนึ่ง แต่การค้าฝิ่นบริเวณชายฝั่งทะเลโดยอังกฤษ และพ่อค้าชาวจีนที่เรียกว่าโคหงส์ คือพวกคนจีนที่ทำการค้ากับพ่อค้าต่างชาติยังกระทำกันอยู่
ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ ฮ่องเต้เต้ากวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งหลินเจ๋อสวีให้มีอำนาจเต็มจากศาลสูง จัดดำเนินการตัดตอนการค้าฝิ่นที่กว่างตง หลินเดินทางจากปักกิ่งมากว่างตงเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๒ โดยตั้งศูนย์บัญชาการการปราบฝิ่นที่โรงเรียนอิ้วหัว หลินได้รับข้อมูลด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ของประเทศชาวตะวันตกจากพวกหัวรุนแรงและพวกหัวก้าวหน้าในกว่างตง เขาทราบมานานแล้วว่าอังกฤษปลูกฝิ่นที่อินเดีย แต่ระยะนั้นฝิ่นดังกล่าวยังไม่แพร่หลายในจีน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ และพวกมิชชันนารีชาวอเมริกันในกว่างตง การหาทางยุติการค้าฝิ่นของพวกยุโรปเป็นหนทางที่ยุ่งยากมาก หลินจึงจำเป็นต้องพึ่งกฎหมายของประเทศที่ได้ประกาศการปราบปรามฝิ่น โดยใช้ช่องทางนี้ ด้วยการประกาศให้ชุมชนชาวต่างชาติทราบว่า การค้าขายฝิ่นเป็นการผิดกฎหมายของจีน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และขอขอบคุณชาวต่างชาติ ที่ให้ความร่วมมือที่จะไม่ขายฝิ่นในประเทศจีน หลินได้ประชุมพวกพ่อค้าหงส์ชาวจีนที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับชาวต่างชาติ หากคนกลุ่มนี้ไปทำมาค้าขายฝิ่นกับชาวต่างชาติ หลินจะไม่ไว้หน้าเลย ทุกคนทราบดีถึงคำประกาศของหลินเจ๋อสวีเรื่องการต่อต้านการค้าฝิ่น พวกเขาจึงระมัดระวังมากขึ้น
ขณะนั้น กัปตันเรืออังกฤษ ชาลส์ เอลเลียต ( Charles Elliot ) อยู่ที่มาเก๊า ช่วงที่หลินประกาศการกำจัดฝิ่นด้วยการยึดฝิ่น และนายวิลเลียม จอร์ดีน ( William Jardine ) ได้ประกาศลาออกจากบริษัทของเขาเพื่อเดินทางกลับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ ต่อมาหลินได้ประกาศอีกรอบโดยผ่านไห่กวนปู่ ทำให้ชาวต่างชาติต้องเดินทางออกจากมาเก๊า หลินสั่งปิดด่านตรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับจัดส่งเรือรบสำเภาไปคุมแม่น้ำ ข้างพวกพ่อค้าชาวต่างชาติพยายามติดต่อกับหลิน เพื่อต่อรอง แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ หลินเชื่อว่าพวกเขาคงไม่ส่งฝิ่นให้ ตนจะรุกทันที แต่ชาวต่างชาติยอมส่งฝิ่นจำนวน ๑ ,๐๓๗ หีบ มาให้เพื่อยอมจำนน รวมทั้งฝิ่นของพวกพ่อค้าจีนหงส์ แต่หลินไม่ยอม เพราะคนพวกนั้นมีฝิ่นกว่าแสนหีบ นอกจากนี้มีฝิ่นกว่าหกพันหีบที่บริษัทเด็นต์ รีบขนออกไป ในที่สุดเรื่องค้าฝิ่นที่กำลังสร้างความร่ำรวยอย่างมหาศาล ให้กับพวกตน ก็ต้องมาสะดุดหยุดลงเพราะหลินเจ๋อสวี ข้างฝ่ายกัปตันเอลเลียตพยายามปรึกษาเสนาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศ คือ ลอร์ด เฮนรี จอห์น ปาล์มเมอร์สตัน ( Lord Henry John Palmerston ) ถึงเรื่องนี้ และเขาได้ถามข้าหลวงใหญ่ เติ้งติงเฉินที่กว่างตงว่าเป็นนโยบายของจีนที่จะเปิดศึกกับอังกฤษหรืออย่างไร เอลเลียตได้สั่งให้เรือสินค้าที่อยู่นอกแม่น้ำเพิร์ลให้เตรียมพร้อมระหว่างเกาลูนกับฮ่องกง เขาสั่งให้กัปตันเบลก ผู้คุมเรือปืน ๑๘ ลำ ช่วยป้องกันเรือพ่อค้าอังกฤษด้วย ซึ่งเรือบางลำเหล่านี้ขนฝิ่น นั่นก็คือเขาสั่งให้ราชนาวีอังกฤษคุ้มกันเรือขนฝิ่น แต่เขาอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของชาวอังกฤษ
กัปตันเอลเลียตจำต้องเดินทางเข้ากว่างตง เมื่อหลินยื่นไม้ตาย โดยดึงคนงานจีนทั้งหมดตั้งแต่คนครัวจนถึงคนงานทุกประเภท แต่พวกอังกฤษก็ไม่ยอมออกจากโรงงานของอังกฤษรวมสิบสามแห่ง ซึ่งมีชาวต่างชาติรวม ๓๕๐ คน แต่พวกเขาก็ไม่อับจนเพราะได้ตุนอาหารไว้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว รวมทั้งฝิ่นด้วย การกระทำของหลินครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความที่ประเทศจีนไม่ได้รับความเท่าเทียมกัน แต่ในสายตาของชาวต่างชาติที่กว่างตงกลับมองการกระทำของหลินเหมือนโจรสลัด กระทำย่ำยีพวกเขาจนหมดอิสระ รวมทั้งคนในบังคับอังกฤษด้วย
การบีบบังคับของหลินครั้งนี้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ เมื่อเอลเลียตแสดงความรับผิดชอบการค้าฝิ่นจำนวนมหาศาล ที่ยังเก็บอยู่ในจีน เขาคงจะยอมรับแล้วว่าการค้าฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากเขากระทำอะไรบางอย่างลงไป เขาอาจถูกฆ่าตายพร้อมทั้งคนของเขาด้วยก็ได้ เขาคงมองว่าการเก็บฝิ่นจำนวนมหาศาลไว้ในโกดัง คงไม่มีทางที่จะจบสิ้น ซึ่งมีผลต่อโรงงานและสินค้าอื่นๆอีกด้วย หากเกิดอะไรขึ้นกับโรงงานและทรัพย์สินของอังกฤษ ประเทศจีนจะต้องรับผิดชอบ แต่ทางประเทศอังกฤษยังไม่ได้ให้คำตอบอะไรออกมา เขาจึงต้องตัดสินใจกระทำลงไปในฐานะที่เป็น ข้าราชการแห่งสมเด็จพระราชินีของอังกฤษและรัฐบาลอังกฤษ โดยประกาศให้คนอังกฤษที่มีฝิ่นอยู่ในครอบครองทั้งหมด ในกว่างตง แจ้งจำนวนให้เขาทราบ และเขาควบคุมเรือสัญชาติอังกฤษทั้งหมด หากใครไม่ทำตามถ้าชาวจีนยึดไปเขาจะไม่รับผิดชอบ คนเหล่านั้นจึงขายฝิ่นในครอบครองทั้งหมดให้อังกฤษเพื่อหยุดการค้าฝิ่นที่กว่างตง พวกเขาเห็นว่าหากขายฝิ่นทั้งหมดให้อังกฤษแล้ว มอบให้หลินไปทำลาย ปีหน้าการค้าฝิ่นที่กว่างตงจะได้ราคาดีแน่นอน เอลเลียตได้สำรวจจำนวนฝิ่นที่มีอยู่ในสต๊อกฝิ่นของคนอังกฤษ ปรากฏว่ามีอยู่ ๒๐ ,๒๘๓ หีบ ราคา ๒ ,๐๐๐ ,๐๐๐ ปอนด์ รวมทั้งที่เก็บไว้ในเรือด้วย เอลเลียตจึงมีหนังสือไปยังหลินเจ๋อสวีแจ้งจำนวนฝิ่นที่มีอยู่ในสต๊อก แต่ไม่ทราบว่าหลินคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขารีบตัดสินใจตอบเอลเลียตไปดังข้อความตอนหนึ่งว่า ด้วยความ จริงใจและซื่อสัตย์ที่แสดงให้เห็นถึงการสรรเสริญที่มีค่ามีเกียรติยศยิ่ง เป็นวันและเวลาที่ จะต้องปฏิรูปกันใหม่ แต่หากว่ายังคงยึดถือเอาความพอใจในผลประโยชน์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ก็จะมีผลไปอีกทางหนึ่ง
หลินจึงจัดการให้ทหารขนฝิ่นที่สต๊อกในโรงงาน ในร้านค้าและในเรือทั้งหมดตามที่เอลเลียตได้แจ้งไว้ เอาไปเก็บไว้ที่อ่าวชวนปี๋ หลินจึงให้คนจีนกลับเข้าไปทำงานตามบริษัทห้างร้านของชาวต่างชาติตามเดิม
เป็นเวลากว่า ๖ สัปดาห์ที่ชาวต่างชาติค้าฝิ่นอยู่ภายใต้บรรยากาศที่แสนเลวร้ายที่กว่างตง ฝิ่นที่ถูกลำเลียงไปกว่า ๒๑ ,๓๐๖ หีบ น้ำหนักเกือบ ๑ ,๕๖๐ ตันหรือ ๒ ,๖๑๙ ,๓๗๒ ปอนด์เท่ากับ ๑ ,๑๘๘ ,๑๒๗ กิโลกรัม ที่หลินขนไปไว้ที่ชวนปี๋ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าหลินประสบความสำเร็จในการจัดการกับชาวต่างชาติที่ค้าฝิ่น แต่ความสำเร็จที่มีช่องโหว่อยู่ เมื่อเอลเลียตดำเนินการครั้งใหม่ นั่นก็คือ ฝิ่นทั้งหมดที่เอลเลียตเก็บหรือซื้อมาจากพ่อค้าชาวอังกฤษ เขาได้โอนให้เป็นทรัพย์สินกลางของรัฐบาลอังกฤษ เมื่อตกไปอยู่ในมือของหลินเจ๋อสวีดังนี้ หลินและประเทศจีนไม่รู้ในกลโกงของเอลเลียต จึงเดินไปตกหลุมพรางของประเทศอังกฤษที่เอลเลียตขุดดักเอาไว้ นั่นก็คือ จีนจะต้องชดใช้ค่าทรัพย์สินคือฝิ่นเหล่านั้นทั้งหมด
หลังจากหลินได้ขนฝิ่นจำนวนมหึมาเก็บไว้ที่หาดชวนปี๋แล้ว จึงวางแผนทำลายฝิ่นเหล่านั้น หลินได้ปรึกษากับวิศวกรและนักเคมีที่กว่างตง ด้วยวิธีการละลายแล้วปล่อยลงทะเลบริเวณหาดหูเหมิน เป็นอ่าวเล็กๆใกล้กับอ่าวกว่างตง มีกองทหารเรือปืนที่ป้อมชวนปี๋ควบคุมดูแล หลินจัดการให้คนขุดหลุมยาว ๑๕๐ ฟุต กว้าง ๗๕ ฟุต ลึก ๗ ฟุต ทอดยาวไปปักธงและท่อนซุง ล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่สูง แล้วจัดการให้สร้างปะรำพิธีเนื้อที่ ๒๐ ตารางฟุต เหนือพื้นทรายเปิดไปทางทิศตะวันตก พื้นปูด้วยพรม ผนังตกแต่งและเป็นตัวอักษรลายเส้น ปักธงยาวสีเหลือง ธงสามชาย ปักรอบอาคารปะรำพิธี หลินเจ๋อสวีเดินทางมาถึงพร้อมด้วยผู้ติดตามสวมเสื้อไหมฤดูร้อน สวมรองเท้าผ้าไหม สวมหมวกตามยศเพื่อประกอบพิธี
ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๒ หลินประกอบพิธีบวงสรวงสมเด็จพระราชชนนีแห่งสวรรค์หรือเจ้าแม่มาจู่ เพื่อกราบถวายบังคมทูลให้ทรงทราบว่า หลินเจ๋อสวีจะทำลายฝิ่นด้วยการละลายแล้วทิ้งลงในมหาสมุทร และขอได้โปรดฯให้พระองค์ทรงให้สัตว์ทั้งหลายตามชายฝั่งลงไปสู่ทะเลลึก เพื่อความปลอดภัยจากฝิ่น ที่จะละลายทิ้งลงทะเล หลังจากนั้นจึงเริ่มทำลายฝิ่นกว่าพันตันจนถึงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๓๘๒ จึงหมด ซึ่งใช้คนงานเกือบห้าร้อยคน ในแต่ละวัน จะตัดฝิ่นเป็นก้อนผสมกับเกลือกวนให้เข้ากันจนละลายแล้วใส่ถังใส่ปูนขาว เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนฝิ่นเป็นของเหลวกลายเป็นละอองขาว มีกลิ่นแก๊ส ดมแล้วจะคลื่นเหียนจะอาเจียน แล้วจึงลำเลียงไปยังอ่าวเล็กๆแถบนั้น เพื่อปล่อยให้ไหลลงทะเลตามคลื่น ตลอดทางมีทหารเฝ้าเพื่อป้องกันการขโมย ทางเข้าออกบริเวณนี้จะมีบัตรผ่านและ มีการตรวจเข้มงวดจนทำลายฝิ่นหมด
การทำลายฝิ่นดังกล่าว หลินก็ยังคิดอยู่ดีว่า ถึงอย่างไรมันก็ยังไม่หมดไปจากประเทศจีน และฝิ่นก็ยังคงปลูกอยู่ที่อินเดียและประเทศแถบนั้น และยังคงพยายามที่จะเอามาขายยังประเทศจีน หลินพยายามหาแหล่งข่าวการขนฝิ่นเข้ามาขายยังจีน หลินได้ร่างสาสน์ถึงสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนม์ ๒๐ พรรษา ( พ.ศ. ๒๓๖๒ - ๒๔๔๔ ) เพื่อให้อังกฤษยุติการค้าฝิ่นและหยุดโรงงานผลิตฝิ่น
สรุปความบางตอนจากสาสน์ของหลินเจ๋อสวี ที่ส่งไปกราบทูล สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ :
...กระหม่อมได้ทราบมาว่า จากการบันทึกช่วยจำของข้าราชการในพระองค์กล่าวว่า ประชาชนของพระองค์ที่เดินทางไปค้าขายที่ประเทศจีนนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิทรงให้ความยุติธรรมเป็นที่ยิ่ง เป็นต้น ...ซึ่งการค้าต่างก็ได้รับความพอใจอย่างต่อเนื่องมากว่าสองร้อยปี แต่ระยะหลังการค้าเริ่มปรากฏว่า มีกลุ่มบุคคลซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ได้ทำการค้าฝิ่นให้ชาวจีนสูบฝิ่นซึ่งเป็นยาพิษ ได้กระจายไปทั่วประเทศจีน กลุ่มคนเหล่านั้นมุ่งเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน มิได้คำนึงถึงผลร้ายต่อคนอื่น มิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายของจีน และมนุษย์ทั้งหลายเขาเกลียดชังกัน ฮ่องเต้ทรงสดับเรื่องนี้ จึงทรงส่งกระหม่อมในฐานะตัวแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็ม พร้อมด้วยนายทหารข้าหลวงมณฑลและข้าหลวงมณฑลมายังกว่างตง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้... ประชาชนคนจีนผู้ใดก็ตาม หากค้าฝิ่นหรือสูบฝิ่นจะได้รับโทษถึงประหารชีวิต...
...ทางจีนได้ทำการสอบสวน ในการสร้างอาชญากรรมของคนกลุ่มนี้ที่ทำการค้าฝิ่นตลอดปีที่พวกเขาได้ประกอบกรรมขึ้น และได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายขั้นพื้นฐานจากการทำผิดกฎหมายของพวกเขา ทางจีนจึงได้พิจารณาถึงเรื่องนี้ พวกเขาได้สำนึกผิด จึงมอบฝิ่นจำนวน ๒๐ ,๑๘๓ หีบ จากห้องเก็บฝิ่นในเรือให้เรา...และพวกเขาได้รับการอภัยโทษ แต่ถ้าทำผิดอีกจะให้อภัยโทษอีกโดยทางกฎหมายแล้วเป็นการยาก...
...กระหม่อมจึงหวังว่า ผู้ปกครองระดับสูงในประเทศของพระองค์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมและจัดการเกี่ยวกับประเทศจีน ควรที่จะได้สั่งสอนพวกเขาให้เข้าใจกฎหมายอย่างถ่องแท้ ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า ต้องเคารพกฎหมายของประเทศจีนด้วย...
...กระหม่อมทราบว่าประเทศของพระองค์อยู่ห่างจากประเทศจีน ๖๐ ๗๐ พันลี้ โดยมีเรือของกลุ่มคนดังกล่าว เข้ามาค้าขายได้ผลประโยชน์มหาศาลจากจีน ด้วยการมีส่วนแบ่งทั้งสองฝ่าย แต่ปรากฏว่าพวกคนกลุ่มนี้ กระทำการเอายาเสพติดมีพิษเข้ามาทำร้ายประชาชนชาวจีน พวกเขาไม่จำเป็นต้องกระทำดังกล่าวก็ยังได้ผลประโยชน์มากมายอยู่แล้ว กระหม่อมใคร่กราบทูลถามพระองค์ว่า ไม่ทรงรับผิดชอบและเกรงกลัวต่อบาปหรือ เพราะกระหม่อมทราบมาว่า การสูบฝิ่นไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำในประเทศของพระองค์ เพราะการสูบฝิ่นเป็นอันตรายตามที่เข้าใจกันดี เมื่อไม่อนุญาตให้สูบฝิ่นในประเทศของพระองค์ ก็ไม่ควรที่จะส่งฝิ่นไปทำร้ายคนประเทศอื่น...และไม่มีสินค้าใดๆในประเทศจีนที่เป็นอันตรายต่อประเทศอื่น... สมมุติว่ามีชาวต่างชาตินำฝิ่นเข้าไปขายในประเทศของพระองค์ ข้าราชการระดับสูงต้องเอาโทษแน่นอน กระหม่อมทราบมาว่า ผู้บริหารระดับสูงในประเทศของพระองค์เป็นผู้มีความเมตตาปราณี เมื่อพระองค์ไม่ทรงต้องการของสิ่งนี้ก็ไม่ควรให้แก่คนอื่น กระหม่อมทราบมาว่า เรือสินค้าที่เข้ามาจอดที่ท่าเรือกว่างตง ได้รับทราบถึงสินค้าผิดกฎหมายห้ามนำเข้าจีนและต่างก็เข้าใจกันดี...
...กระหม่อมทราบมาว่า กรุงลอนดอนเมืองหลวง สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ตลอดจนเมืองอื่นๆ ไม่อนุญาตให้ผลิตฝิ่น ยกเว้นบางเมืองในอินเดีย ที่เป็นเมืองขึ้นของพระองค์ เช่น เบงกอล มัทราส บอมเบย์ ปัตนา พาราณสี และมัลละ ได้รับอนุญาตให้ปลูกฝิ่นเต็มทั้งภูเขาไปทั่ว รวมทั้งโรงงานผลิตฝิ่น กลิ่นร้ายของฝิ่นเหล่านั้น ลอยขึ้นไปสวรรค์รบกวนเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย ขอพระองค์ทรงโปรดเถิด ! ทำลายต้นฝิ่นเหล่านั้นให้สิ้นซาก แล้วให้ปลูกพืชข้าวชนิดต่างๆแทน ใครที่ปลูกฝิ่นอีกจะถูกลงโทษอย่างหนัก ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาล ทำให้พระองค์ทรงพระเจริญ พระชนมายุยิ่งยืนนาน ตลอดจนเชื้อพระวงศ์ถึงลูกหลาน ...
...ทางรัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายห้ามสูบฝิ่นบังคับแก่คนจีน ใครก็ตามถ้าขายฝิ่นจะถูกประหารชีวิต ใครก็ตามถ้าสูบฝิ่นจะถูกประหารชีวิต ถ้าหากพวกคนกลุ่มนี้ไม่นำฝิ่นเข้ามาขายในจีน คนจีนจะขายและสูบได้อย่างไร...ประเทศจีนจึงออกกฎหมายใหม่ ว่าชาวต่างชาติคนใด นำฝิ่นเข้ามาในประเทศจีนจะถูกตัดศีรษะประหารชีวิต เพราะนำเอาความหายนะมาสู่มนุษยชาติ...
...เมื่อพระองค์ทรงได้รับสาสน์ฉบับนี้ของกระหม่อมแล้ว กระหม่อมหวังว่าพระองค์ทรงตอบรับ และทรงตัดวงจรฝิ่นอันชั่วร้ายโดยทันที...
แต่หลินคงไม่ทราบว่า อังกฤษมีนโยบายให้บริษัทอีสต์อินเดีย ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายฝิ่นตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๗๕ มาแล้ว หลินเชื่อว่าจีนได้เปิดตลาดการค้ากับจีนเพื่อให้อังกฤษ ได้กำไรจากการค้าขายทั่วไปมิใช่ฝิ่น ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ กัปตันวอร์เนอร์ได้นำสาสน์ของหลินไปลอนดอนเพื่อมอบให้นายโทมัส คูตต์ แห่งสำนักกิจการฝ่ายต่างประเทศ แต่เขาไม่ยอมรับ สาสน์จึงไม่ได้อ่าน ต่อมาภายหลังสาสน์ดังกล่าวได้รับการเปิดเผยขึ้น ต่างก็สรรเสริญหลิน และตำหนิอังกฤษที่ทำการแข่งขันด้านการค้าขาย แต่กลายเป็นการค้าฝิ่น อย่างไรก็ตามการที่ทางราชสำนักจีน ได้มอบหมายให้หลินจัดการขั้นเด็ดขาดครั้งนี้ แทนที่จีนจะประนีประนอมกับอังกฤษตั้งแต่แรก โดยให้อังกฤษออกไปจากจีน แล้วจีนควบคุมการลักลอบค้าฝิ่น แต่เมื่อเจอกับประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศอังกฤษในสมัยนั้น มีหรือที่พวกเขาจะยอมง่ายๆที่จะสละเงินรายได้จำนวนมหาศาลต่อปีจากการค้าฝิ่นในจีน
อย่างไรก็ดี ทั้งสองประเทศยังไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์อันดีต่อกันนั้น เป็นเพราะจีนหรือพวกขุนนางแมนจูมองว่า อังกฤษเป็นชาติตัวมารร้าย ข้างอังกฤษกลับมองจีนเป็นพวกล้าหลังด้อยพัฒนา ขณะที่จีนพยายามต่อต้านการค้าฝิ่นโดยใช้นโยบายแบบโบราณกับอังกฤษ ในขณะที่อังกฤษพยายามหาเมืองขึ้นเพื่อขยายการค้า ต่างก็ไม่ยึดถือกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง
หลังจากหลินได้ทำลายฝิ่นที่ชวนปี๋แล้ว เขาได้เปิดท่าเรือที่กว่างตงตามที่ได้สัญญาไว้ พร้อมทั้งอนุญาตให้เข้าเมืองมาเก๊าได้ตามต้องการ อนุญาตให้เรือเข้าไปที่ท่าเรือหวั่มปั๋ว เพื่อซื้อขายสินค้า เช่น กระดาษ ใบชา ฝ้าย ฯลฯ พวกที่เคยค้าฝิ่น ๑๖ คน ไม่อนุญาตให้เหยียบแผ่นดินกว่างตงอีก โดยเฉพาะนายเด็นต์และนายเจมส์ แม็ธเทสัน ผู้ที่เคยครอบครองฝิ่นถึงค่อนครึ่งที่หลินยึดเอาไปเผา
ข้างฝ่ายนายเอลเลียตคิดว่า หลินเจ๋อสวีคงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฮ่องเต้เต้ากวง เรียบร้อยแล้ว ถึงเรื่องราวที่เขาได้กระทำลงไป และเขาคงไม่ต้องการให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกแน่นอน หลังจากที่เขาทำสัญญาส่งฝิ่นให้หลินไปแล้ว เขาออกคำสั่งให้ชาวอังกฤษ และคนในบังคับอังกฤษออกจากกว่างตงทั้งหมด รวมทั้งให้นำเรือสินค้าทั้งหมดออกจากแม่น้ำเพิร์ลรวม ทั้งที่มาเก๊าหรือฮ่องกง ออกไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้หลินและพวกพ่อค้าหงส์ได้เห็นว่าเป็นจริง และเพื่อถ่วงเวลาการรอคำตอบจากลอนดอน หลังจากอังกฤษถอนตัวออกไปชั่วคราว ปรากฏว่าราคาฝิ่นต่อหีบถีบตัวสูงขึ้นอย่างลิบลิ่ว ทำให้พวกลักลอบขนฝิ่นมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ตามชายฝั่งทะเลจีนมีการลักลอบขนฝิ่นมาจากอินเดียแล้วนำไปซุกซ่อนไว้ตามศาลเจ้า ที่อยู่อาศัยหรือฝังไว้ในป่า ทำให้หลินหนักใจในเรื่องนี้ นอกจากนี้พวกข้าราชการกังฉินยังนำเอาฝิ่นไปยัดเยียดให้ราษฎรแล้วตั้งข้อหาการมีฝิ่น เป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นอันมากทั้งที่มาเก๊าและฮ่องกง
วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๓ เรืออังกฤษและอเมริกันจอดเทียบท่าที่เกาลูน ลูกเรือต่างขึ้นเที่ยวบนบก ลูกเรืออังกฤษหกคนเกิดเรื่องชกต่อยกับคนจีน จนทำให้หลินเว่ยซื่อถึงแก่ความตาย ซึ่งตามกฎหมายกว่างตงต้องขึ้นศาลจีน แต่เอลเลียตไม่ยอม จากกรณีนี่เองหลินจึงนำเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะควบคุมชาวต่างชาติ ข้างเอลเลียตได้พิพากษาโดยใช้กฎหมายอังกฤษ ให้จำคุกตามโทษานุโทษทั้งหกคน แต่สุดท้ายได้รับการปล่อยให้พ้นผิดทั้งหมด ทำให้หลินไม่พอใจที่ปล่อยให้ฆาตกรพ้นโทษ เขาจึงสั่งให้ชาวอังกฤษหยุดทำการค้าขายที่กว่างตง และเมื่อคนทั้งหกกลับไปถึงอังกฤษพวกเขาก็พ้นโทษเช่นเดียวกัน หลินจึงสร้างความกดดันให้ชาวต่างชาติโดยเริ่มจากชาวโปรตุเกส โดยขนทหารไปเฝ้าระวังที่ช่องแคบมาเก๊า ข้างเอลเลียตว่าโดยหน้าที่แล้วเขาจะต้องคุ้มครองชาวอังกฤษและคนใต้บังคับทั้งหมด เขาจึงสั่งให้ทุกคนออกจากมาเก๊า ซึ่งขณะนั้นมีเรือสินค้ากว่า ๕๐ ลำทอดสมออยู่ที่ฮ่องกง
ฝ่ายข้าหลวงโปรตุเกส นาย เอ.เอ. ดา ซิลวา ปิ่นโต ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือคนอังกฤษที่มาเก๊า แต่หลิน และกองทหารของเขายังคงปักหลักอยู่ทางด้านเหนือของที่นั่น หลังจากอังกฤษถอยเรือออกไปจากมาเก๊าแล้ว หลินจึงยกพลขึ้นบกที่มาเก๊า นายปิ่นโตและชาวมาเก๊าต้อนรับหลินและกองทหารอย่างเอิกเกริก อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ยังไม่ยอมลงนามในสัญญาเรื่องการลักลอบค้าฝิ่นอยู่ดี เขาหาว่ากฎหมายจีนล้าหลังกว่าอังกฤษ หลินเคยประกาศฐานะของชาวอังกฤษ ที่อาศัยอยู่ที่มาเก๊าและฮ่องกงว่าจะต้องซื่อสัตย์ หลินให้อำนาจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะป้องกันตนเอง สามารถจับและขังคนอังกฤษได้ ถ้าหากละเมิดไม่ว่าเรื่องอาหารเครื่องใช้หรือแม้แต่น้ำ เขาเชื่อว่าการกระทำเยี่ยงนี้จะหยุดปัญหากับอังกฤษได้
ด้วยเหตุที่หลินขาดความรอบรู้เหตุการณ์รอบโลก เขาจึงไม่สะทกสะท้านกับอังกฤษ เขาจึงยืนหยัดที่จะต่อสู้ต่อไป เขาไม่เคยทราบว่าชาวอังกฤษถูกบังคับจากประเทศแม่ของตน จากนั้น ลอร์ด โอ๊กแลนด์ แห่งอินเดียได้เดินทางมาฮ่องกง หลังจากที่เขาได้รับจดหมายโต้ตอบระหว่างเอลเลียตกับหลิน เขาเดินทางมาพร้อมกับเรือปืนฟริเกตจำนวน ๒๘ กระบอก โดยมีกัปตันสมิตเป็นผู้บังคับเรือ และลำที่สองมีปืน ๑๘ กระบอกกำลังติดตามมา หลินได้รับข้อมูลเรื่องเรือปืนฟริเกตมาที่ฮ่องกง เขาจึงต้องใช้เรือใบโบราณเป็นเรือรบ และไม่เกรงกลัวแต่อย่างใดกับเรือเพียงลำเดียว เพราะเขาเชื่อว่าพวกยุโรปเป็นชาติพื้นเมือง จากที่เขาสังเกตพวกกลาสีเรือที่ไร้การศึกษา เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม้แต่เรือสินค้าของพวกยุโรปยังต้องติดปืนใหญ่ภายในเรือด้วย
ข้างฝ่ายเอลเลียตนั่งเรือเล็กจำนวนสามลำคือ เรือหลุยซ่า เพิร์ล และเรือสเก๊าต์ จากเรือใหญ่ชื่อ เอช. เอ็ม. เอส. วาเลช ออกหาเสบียงเจอเรือใหญ่จีนสามลำแถบเกาลูน เขาจึงให้ลูกเรือส่งหนังสือให้นายทหารจีนเพื่อขอน้ำและซื้ออาหาร แต่นายทหารจีนจับคนส่งหนังสือ ( นายก็อตสลาฟต์ ) พร้อมลูกเรือใส่เรือใหญ่จีน และรายการที่เขาขอไม่มีใครอนุญาตได้ นอกจากหลิน นายก็อตสลาฟต์กับพวกจึงถูกปล่อยกลับโดยไม่ได้อะไรกลับไปเลย ซึ่งทำให้เอลเลียตโกรธมากจึงเปิดฉากยิงเรือรบจีนที่จอดลอยลำอยู่ เรือจีนโจมตีทันทีเช่นเดียวกัน หลังจากยิงต่อสู้กันสามสิบนาทีเรือสามลำนั้นหลบออกไป เพื่อทำความสะอาดกระบอกปืนใหญ่ ข้างกัปตันสมิตย้อนกลับไปเอาเรือฟริเกตมาต่อสู้ หลังจากสู้รบกันครั้งที่สองนี้เป็นเวลา ๔๕ นาที เรือเพิร์ลจม เรือหลุยซ่ายิงเรือใบจีนลำเดียว จนพลบค่ำกัปตันสมิตขออนุญาตเอลเลียตที่จะถล่มเรือใบจีนให้หมด แต่เอลเลียตคิดว่าเขาได้ทำการสั่งสอนจีนพอสมควรแล้ว ซึ่งกระทำเช่นเดียวกับเรืออังกฤษยิงเรือจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๐ มาแล้ว เพื่อขออาหารและน้ำเช่นเดียวกับในครั้งนี้ แต่ต่างกันที่ข้ออ้างของเอลเลียตยิง เพราะนายทหารจีนไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้ซื้ออาหารและน้ำได้นอกจากหลินคนเดียว การเปิดศึกระหว่างจีนกับอังกฤษครั้งนี้กลายเป็นสงครามฝิ่นไปในที่สุด
หลินพยายามที่จะให้ทางราชสำนักเข้าใจว่า ตนกำลังทำทุกวิถีทางที่จะให้อังกฤษออกไปจากฮ่องกง เขาจึงสั่งกองเรือใบรบจำนวน ๘๐ ลำและเรือปืนไปที่ปากแม่น้ำปั๋วกุ้ย เขาพยายามขัดขวางอังกฤษ ในขณะเดียวกันเอลเลียตพยายามที่จะใช้ประโยชน์ของผู้มีอำนาจที่จะเปิดเจรจาเพื่อให้เรือสินค้า เข้าไปขายได้ที่ท่าเรือชวนปี๋ ซึ่งเป็นทางเข้าไปสู่ปั๋วกุ้ย ธุรกิจการค้าขายน่าจะราบรื่น รวมทั้งการเสียภาษีให้กับศุลกากรด้วย อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าหลินเข้าใจการเจรจานี้ชัดเจนหรือไม่ เมื่อการเจรจาจวนจะสำเร็จอยู่แล้ว ในเดือนตุลาคม เรือสินค้าของนายโทมัส คูตต์ได้แล่นผ่านปั๋วกุ้ยถึงหวั่มปั๋ว นายวอร์เนอร์ซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการค้าฝิ่น เขาไม่เห็นด้วยกับการเจรจาของเอลเลียตกับหลินที่ต่อต้านการลงนามสัญญาการค้าฝิ่นกับหลิน เขาจึงลงชื่อเพื่อให้เรืออังกฤษอยู่ภายใต้การควบคุมของหลิน ที่หวั่มปั๋ว เพื่อค้าขายอย่างสันติ หลังจากที่นายวอร์เนอร์ลงชื่อแล้ว หลินจึงบังคับให้ชาวอังกฤษ ลงนามตามอย่างนายวอร์เนอร์ หากใครปฏิเสธเขาจะไม่ไว้หน้า
เรื่องนี้ทำให้หลินมีความรู้สึกว่าเขาได้กระทำสำเร็จพอสมควรกับการกระทำดังกล่าวกับกองเรืออังกฤษ ที่อ่าวกว่างตง แต่ที่เขากระทำสำเร็จครั้งแรกนั้น เขาไม่ได้ฉุกคิดว่า กองเรือพลังอำนาจของอังกฤษ ไม่ได้อยู่ที่อ่าวกว่างตงแล้ว เขาตัดสินใจผิดพลาดที่บีบบังคับกองเรืออังกฤษ โดยเฉพาะคนจีนที่ทำมาค้าขายกับอังกฤษอยู่จะรู้ดี หรือแม้แต่กรรมกรชาวจีนที่รับจ้างอยู่ตามท่าเรือยังเข้าใจดี อังกฤษไม่ได้อยากทำสงครามกับจีนแต่ประการใด เขาต้องการจัดการค้าขายใหม่ให้ดูเรียบร้อย เท่านั้น
เมื่อนายวิลเลียมส์ จอร์ดีน ราชาฝิ่นแห่งกว่างตงและเป็นหนึ่งในมาเฟียนักค้าฝิ่นรายใหญ่ของโลก ออกจากกว่างตงไปอังกฤษเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๘๒แล้ว เขาได้เข้าพบ ลอร์ด ปาล์มเมอร์สตัน เกี่ยวกับนโยบายจีนพร้อมทั้งสรุปเหตุที่เกิดขึ้นที่กว่างตงให้ฟัง เพราะโรงงานทอผ้าที่แมนเชสเตอร์ ๓๙ แห่งที่ลงทุนไปแล้วห้าแสนปอนด์กำลังรอฝ้ายจากกว่างตง เกรงว่าจะสูญไป จึงขอให้รัฐบาลอังกฤษดำเนินการค้าขายกับจีนให้ปลอดภัย ขณะที่โรงงาน ๙๖ แห่งที่ลอนดอนส่งเรื่องทำนองเดียวกันมาอีก รวมทั้งโรงงานที่ลีดส์และลีเวอร์พูลด้วย เพื่อให้สภาอังกฤษพิจารณา เมื่อนายจอร์ดีนได้รับการสนับสนุนจากลอร์ด ปาล์มเมอร์สตัน เขาจึงรีบจดหมายบอกไปยังนายเจมส์ แม็ธเทสันที่กว่างตงว่า สภาขุนนางอังกฤษจัดการกับจีนแน่นอน และเขาได้เข้าพบปาล์มเมอร์สตันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๓เพื่อให้รายละเอียดต่างๆ ซึ่งนายเอลเลียตได้มีหนังสือเล่าเหตุการณ์ที่กว่างตง มาให้ปาล์มเมอร์สตันก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องหลินเจ๋อสวีบังคับคนต่างชาติที่กว่างตง เรื่องการศุลกากร ด้วยชาตินิยม เขาไม่ยอมที่จะให้สภาล่างอนุมัติเงินจำนวนกว่าสองล้านปอนด์ เป็นค่าฝิ่นที่นายเอลเลียตซื้อจากพ่อค้าฝิ่นเอาไปให้หลินยึด เขาจึงต้องการให้จีนจ่ายเงินก้อนนี้ ซึ่งเรื่องนี้เอลเลียตกระทำการโดยไม่ได้ปรึกษาใคร ดังนั้นลอร์ด ปาล์มเมอร์สตันในฐานะเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ จึงสั่งให้กองเรือรบของอังกฤษที่อินเดีย ไปกว่างตงหลังจากที่เขาได้พบกับนายจอร์ดีนแล้ว ที่เขารีบกระทำอย่างนี้เพราะสมาชิกสภาขุนนางพรรคคอนเซอร์เวตีฟประกาศว่า การค้าฝิ่นเป็นการทำผิดกฎหมายและศีลธรรม อดีตประธานใหญ่บริษัทอีสต์อินเดียจำกัดคือนายเฮนรี เซ็นต์ยอร์ช กล่าวว่า แต่ละคนช่างตาบอด ไม่เข้าใจหรือว่า มันเป็นผลอันตรายร้ายแรงต่อการแข่งขันของชาติเรา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่คัดค้านการค้าฝิ่น สุดท้ายนายปาล์มเมอร์สตันกล่าวสรุปว่า การค้าฝิ่นทำให้สหราชอาณาจักรร่ำรวยมหาศาล
นอกจากนี้เขายังได้มีหนังสือถึงสภาสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ กล่าวหาหลินเจ๋อสวีว่าเป็นโจรและย้ำว่า ถ้ากองเรือรบของอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ปรากฏขึ้นแถบชายฝั่งประเทศจีน เราคงจะไม่รบกันเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องนี้ได้มีการอภิปรายกันในสภาอังกฤษ ในที่สุดสภาผ่านกฎหมาย การทำสงครามฝิ่น (The War Chest Bill )
ข้างฝ่ายเอลเลียตที่จีน พยายามให้หลินค้าขายใบชาเหมือนเดิม แต่หลินปฏิเสธจดหมาย เขายืนกรานที่จะมิให้อังกฤษทำผิดกฎหมายการค้าฝิ่น และหยุดการค้าฝิ่นก่อน หากไม่ยอมรับกฎหมายนี้ก็ขอให้ออกจากน่านน้ำจีนและอย่าได้เข้ามาอีก เอลเลียตปฏิเสธทุกข้อ ซึ่งขณะนั้นเรือสินค้าอังกฤษจำนวน ๖๐ ลำ กำลังลอยลำอยู่โดยมีเรือคุ้มกันสองลำ คือ เรือฟริเกต เอช. เอ็ม. เอส. วอเลช กับ เรือ เอช. เอ็ม. เอส. ไฮยาซินธ์
สงครามที่ชวนปี๋ทำให้หลินมีปัญหาหนัก เพราะกองทัพเรือของเขาถูกโจมตีมาจากแนวความคิดของเขานั่นเอง ซึ่งอาจนำไปสู่หายนภัยที่จะบังเกิดขึ้นกับตัวเขา จากทางราชสำนักก็ได้ เขาเพียงแต่รายงานสั้นๆถึงการโจมตีเรือสินค้าที่พยายามเข้ามาที่เมืองปั๋วกุ้ยเท่านั้น แต่ไม่ได้ส่งรายงานไปยังราชสำนักแต่อย่างใด ฮ่องเต้เต้ากวง ยังทรงสนับสนุนหลิน เพราะพระองค์มิได้ทรงทราบ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่กว่างตงที่ชาวจีนกลัวที่สุด ทรงทราบจากรายงานเพียงว่า ได้มีการลักลอบค้าฝิ่นเหนือชายฝั่งกว่างตงเท่านั้น และทรงเข้าใจว่าหลินได้แก้ปัญหาเรื่องฝิ่นเรียบร้อยแล้ว หลินให้ความมั่นพระทัยว่าฝิ่นจากต่างชาติจะยุติลง ที่จริงหลินพยายามซื้อเรือจากชาวอเมริกัน ซื้อปืนใหญ่จากพ่อค้าชาวโปรตุเกส กล่าวกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเอลเลียตไม่ถูกบังคับอีก
ในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๓ รัฐบาลอินเดียของอังกฤษได้ประกาศสงครามกับจีน แต่ประเทศจีนมิได้ประกาศตอบโต้ การสงครามที่อ่าวชวนปี๋มิได้มีความรุนแรงแต่ประการใด แต่การแก้ปัญหาของหลินก็มิได้แสดงให้เห็นว่าได้ผล
การค้าฝิ่นของชาวอเมริกัน ไม่มีกองทัพเรือคุ้มกันแต่อย่างใด ดังนั้นการทำสัญญาไม่ค้าฝิ่น จึงเป็นไปเพื่อรักษาตลาดการค้ากับจีนไว้เท่านั้น บริษัทค้าฝิ่นรายใหญ่ของชาวอเมริกันคือบริษัทรัสเซล ผู้ดำเนินการคือนายวอร์เร็น เดอลาโน อดีตกงสุลอเมริกันประจำกว่างตง ผู้เป็นปู่ของ แฟรงกลิน เดอลาโน รุสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ ๓๒ ของสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับพ่อค้าจีนค้าขายใบชาส่งออกระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒ ๒๓๘๓
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๓ กองทัพเรืออังกฤษภายใต้การบังคับบัญชาของ เซอร์ ยอร์ช เอลเลียต ถึงฮ่องกงด้วยเรือรบจำนวน ๔๘ ลำ เรือธงชื่อ เอช. เอ็ม. เอส. เมลวิลล์ เป็นเรือปืน ๗๔ กระบอก เป็นหนึ่งในสามลำที่เป็นเรือรบหลัก เรือรบชั้นหนึ่งมีปืน ๔๔ กระบอกจำนวน ๒ ลำเป็นเรือฟริเกต เรือรบชั้นสองมีปืน ๒๘ กระบอกเป็นเรือฟริเกตจำนวน ๓ ลำ เรือสลูป ๘ ลำ แต่ละลำมีปืน ๑๐ ถึง ๑๘ กระบอก เรือรบไอน้ำของบริษัทอีสต์อินเดียจำนวน ๔ ลำ เรือขนส่ง ๒๗ ลำ เรือทรูปหนึ่งลำ สำหรับลูกเรือเป็นชาวไอริช สก๊อต และอินเดีย ๔ ,๐๐๐ คน ข้างฝ่ายหลินได้จัดการเรือรบแบบสำเภา และกองร้อยปืนใหญ่จำนวน ๔๐ กระบอกที่ปั๋วกุ้ย และซื้อปืนเพิ่มอีก ๒๐๐ กระบอก ขึงโซ่ในแม่น้ำ สร้างทหารบ้านขึ้นมาโดยใช้ชาวประมง ชาวเรือ คนในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันชาวต่างชาติขึ้นบก แล้วให้เผาเรือต่างชาติเสีย ใครทำลายเรือปืน ๗๔ กระบอกได้จะจ่ายสามหมื่นเหรียญแมกซิกัน จับนายทหารเรือมีชีวิตจ่ายห้าพันเหรียญ หากตายจะจ่ายให้ ๑ ,๖๕๐ เหรียญ ทหารเรือฝรั่งจ่าย ๑๐๐ เหรียญ พวกทหารสีผิวจ่าย ๒๐ เหรียญ เขายังรับประกันที่จะจ่ายผลประโยชน์อีกสิบเปอร์เซ็นต์
หลินเจ๋อสวีมีหนังสือกราบทูลฮ่องเต้เต้ากวง ถึงเรื่องเรือรบอังกฤษเข้ามาที่กว่างตง เขาเปรียบเทียบเสมือนหนูตัวใหญ่ที่เข้ามาเพื่อขายฝิ่น และยังได้กราบทูลว่า ราษฎรกล่าวว่า เรือสำเภาและปืนของจีนเทียบกับของอังกฤษไม่ได้เลย การที่อังกฤษกระทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการค้าของพวกตน การที่เรือรบเหล่านั้นมาจอดอยู่ หลินและคนจีนเข้าใจว่ามาเพื่อป้องกันให้มีการลักลอบค้าฝิ่นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเรือนายพลเอลเลียตมาถึง เขาได้เปลี่ยนท่าทีใหม่ระหว่างความสัมพันธ์จีนกับอังกฤษ เขาต้องการให้ชาวอังกฤษอยู่และค้าขายด้วยความปลอดภัย เขาต้องการวางระบบผูกขาดที่กว่างตง จีนจะต้องจ่ายเงินที่จีนเป็นหนี้อังกฤษ ปาล์มเมอร์สตันยังได้สั่งให้เซอร์เอลเลียตใช้เรือรบ ปิดท่าเรือสำคัญๆของจีนให้หมด และให้ไปยึดหมู่เกาะโจวซันทางใต้ของเซี่ยงไฮ้ไว้ จนกว่าจีนจะจ่ายเงินครบ การประชุมตกลงอาจจะจัดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง โดยรัฐบาลจีนจะต้องยอมรับ อาจจัดที่แม่น้ำไห่ใกล้เมืองเทียนจิน นอกจากนี้ยังยื่นคำขาดให้จีนจ่ายค่าไถ่ฝิ่นสองหมื่นหีบที่หลินยึดไป เขายอมรับว่าจีนมีสิทธิที่จะห้ามค้าฝิ่น เพราะสมเด็จพระราชินีอังกฤษ ไม่ทรงอนุญาตให้ชาวอังกฤษเสพยาเสพติด ดังนั้นเขาต้องการให้ทางการจีน ส่งฝิ่นสองหมื่นตันคืนหรือจ่ายเป็นเงินสด เหล่านี้คือข้อเรียกร้องบังคับของอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม อังกฤษมิได้โจมตีกว่างตง เพียงแต่ปิดอ่าวแม่น้ำเพิร์ลไว้ พวกเขาไม่ต้องการโจมตีเพื่อเข่นฆ่าชาวจีนแต่ประการใด เอลเลียตได้ให้นายทหารของตนนำหนังสือไปมอบให้ผู้มีอำนาจเต็มที่เซียะเหมินด้วยการยกธงขาว แต่ทหารจีนไม่เข้าใจ ระดมยิงใส่ กองเรืออังกฤษจึงล่าถอย แล้วแล่นขึ้นไปตามชายฝั่งทางเหนือถึงหมู่เกาะโจวซัน เข้ายึดเมืองติงไห่บนเกาะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เช่นเดียวกับที่เมืองหนิงโป
ข้างนายทหารจีนที่เมืองโจวซันได้มอบหนังสือด่วนให้ม้าเร็วถือเข้าไปรายงานยังกรุงปักกิ่ง เมื่อฮ่องเต้เต้ากวง ทรงรับหนังสือด่วนทรงอ่านแล้ว ยังทรงสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใดหลินเจ๋อสวี จึงยังแก้ปัญหาเรื่องฝิ่นที่กว่างตงไม่สำเร็จ และเมื่อหนังสือจาก ลอร์ด ปาล์มเมอร์สตันถึงมือเลขาธิการใหญ่ ชีซ่าน รองข้าหลวงมณฑลเจียงซู จึงนำเข้ากราบบังคมทูลถวายพระองค์ และว่าบัดนี้กองทหารต่างชาติ ได้นำกองเรือรบเข้ามาทอดสมออยู่ที่ป้อมต้ากู่ปากแม่น้ำไห่แล้ว พระองค์ทรงพระพิโรธหลินเจ๋อสวีมาก จึงทรงปลดหลินเจ๋อสวีออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๓ ในฐานะที่ทำงานผิดพลาดในการยับยั้งการค้าฝิ่นไม่ได้ผล และยังหลอกพระองค์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักอีกด้วย จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ไปจัดการเรื่องการชลประทาน และการควบคุมน้ำท่วมที่มณฑลซินเจียง ( ซินเกียง ) หมู่บ้านอีลี่ชายแดนติดกับประเทศคาซักสถาน
ตามแนวความคิดของหลินเจ๋อสวีก็คือ ถ้าหยุดการค้าฝิ่นของอังกฤษที่กว่างตงได้เมื่อไร ก็จะหยุดการลักลอบค้าฝิ่นในจีนได้ทั้งหมด แต่เขาคงไม่ทราบว่า นอกจากอังกฤษแล้วยังมีชาวอเมริกัน อินเดียและชาวจีนเองที่ทำการค้าฝิ่นที่ฮ่องกง ฝิ่นจึงลักลอบขนเข้ามา ซึ่งเขาไม่สามารถยับยั้งมันไว้ได้
เมื่ออังกฤษยื่นข้อเรียกร้องจากจีน ทางจีนเห็นว่าอาวุธยุทโธปกรณ์สู้อังกฤษไม่ได้ จึงจำเป็นต้องทำสัญญากับอังกฤษ เรียกว่า สัญญานานกิง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ พวกขุนนางจีนที่สนับสนุนให้มีการทำสัญญา ได้แก่ อีหลี่ปู้ เป็นชาวแมนจูราชสกุลอ้ายซินเจี๋ยหรัว โปรดฯให้อีหลี่ปู้เป็นตัวแทนพระองค์ไปบัญชาการรบกับอังกฤษที่ติงไห่ แต่เขาไม่ยอมรบ แถมเอาเสบียงอาหารไปให้กองทัพอังกฤษและบอกเล่าถึงเรื่องหลินเจ๋อสวีถูกปลด อีหลี่ปู้ใช้อำนาจตัวแทนพระองค์ ลงนามสนธิสัญญานานกิง โดยที่ฮ่องเต้เต้ากวงมิได้ทรงทราบเลย เมื่อไปบัญชาการที่กว่างโจวก็หาทางสลายกองกำลังต่อต้านอังกฤษ จับผู้นำปัญญาชนไปขังทำให้ชาวกว่างโจวโกรธแค้นมาก
อีกคนหนึ่งคือ ฉีซ่าน เป็นคนในตระกูลปั้วเออร์จี้จี๋เท่อ ชาวแมนจู มีบรรดาศักดิ์ชั้น โหว เป็นผู้ใส่ความหลินเจ๋อสวีว่า ใช้วิธีการปราบฝิ่นไม่ถูกต้องและจะต้องลงโทษหลินและพวกอย่างหนัก เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพให้ไปรบกับอังกฤษ แต่กลับไปเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ แล้วตรวจสอบความผิดของหลินเจ๋อสวี นอกจากนี้ยังเอาใจอังกฤษ ด้วยการสลายกองทัพเรือและรื้อป้อมปราการทางทะเลลงเสีย ข้าง มู่จางเอ๋อ คนสกุลกัวเจี๋ย เป็นขุนนางแมนจูอีกคนหนึ่งที่ยอมจำนนสงครามฝิ่น ด้วยการฉวยโอกาสกล่าวโทษหลินเจ๋อสวีกับเติ้งถิงเจินต่อหน้าพระพักตร์ว่า ที่อังกฤษยกทัพมาเพราะหลินเผาฝิ่นที่กว่างโจว นายพลทหารอีกคนหนึ่งคือ หนิวเจี้ยน เป็นผู้บัญชาการกองทัพเหลี่ยงเจียง (คือ รวมเจียงซู อันฮุยและเจียงซี ) เมื่อเกิดสงครามฝิ่นขึ้น หนิวเจี้ยนไม่ยอมเตรียมการรบใดๆโดยให้เจรจาสงบศึกแทน
สนธิสัญญานานกิงดังกล่าวต่อมาได้เพิ่มเติมภาคผนวกในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ มีสาระสำคัญคือ ๑. ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ ๒. ยกเลิกระบบผูกขาดการค้า ๓. เปิดท่าเรือห้าแห่ง คือ กว่างตง เซี่ยงไฮ้ ฝูโจว หนิงโปและอามอย ( เอ้หมีง เซียะเหมิน ) ให้ชาวอังกฤษพักอาศัยและค้าขายกับชาติอื่นๆได้ ๔. จำกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่กำหนดของสินค้า ๕. ชาวอังกฤษได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคือไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจีน ๖. ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทำขวัญเป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่าสัญญาฉบับนี้ไม่มีความเท่าเทียมกัน ทำให้คนจีนมีความรู้สึก ถูกเอาเปรียบ กลายเป็นชาติที่ต่ำต้อย มิหนำซ้ำหลังจากนั้นเพียงสองปี ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ทำสัญญาแบบเดียวกัน
แล้วสงครามฝิ่นยกสอง ระหว่างจีนกับอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าสมทบก็เริ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ๒๔๐๓ ร้ายกาจกว่ายกแรกหลายเท่านัก ในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ นายจอร์ดีน แม็ธเทสันได้ลำเลียงฝิ่นจากฮ่องกงเข้าแม่น้ำแยงซีด้วยเรือเร็วจำนวน ๑๙ ลำจาก ๘๐ ลำ เพื่อนำเข้าสู่ใจกลางของประเทศจีนในเวลาสามปี กว่า๔๐ ,๐๐๐ หีบ คิดเป็นเงินกว่า ๖ ,๐๐๐ ,๐๐๐ ปอนด์ต่อปี พวกที่ร่ำรวยจากการค้าฝิ่นในจีนได้แก่ อังกฤษ อเมริกัน สกอต อินเดีย และ คนจีนเอง บริษัทที่ค้าฝิ่นได้แก่ บริษัท จอร์ดีน แม็ธเทสัน ( Jordine Matheson and Company ) , ไวต์แมน ( Whiteman), เด็นต์ ( Dent), ไบรต์แมน (Brightman), วอร์เร็น เดอลาโน ที่สอง ( Warren Delano II), รัสเซล ( Russell and Company )
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ เมษายน ๒๕๕๑
Title : The Opium War 1839 - 1842
: Somboon Kantakian