เจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ ๒

เจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เจ้าจอมมารดาอำภา เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๓๔๒ ๒๓๕๗ ทรงมีพระราชโอรสและธิดารวม ๗๒ องค์
เจ้าจอมมารดาอำภาประสูติพระราชโอรสธิดารวม ๖ พระองค์ ซึ่งมากกว่าเจ้าจอมใดๆทั้งหมด จึงเป็นที่ทราบกันว่า เจ้าจอมมารดาอำภาเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก
เจ้าจอมมารดาอำภาเป็นบุตรีพระยาอินทรอากร ( อิน หรือ โง้ว แซ่หลิม ) ท่านมีพี่น้องรวม ๗ คน คือ นายเสง นายมิน เจ้าจอมมารดาอำภา บุตรีชื่อไม้เทศ บุตรีชื่อเถาวัลย์ บุตรีชื่อกลีบ และนายมุ้ยหรือนุ้ย
กล่าวกันว่า เจ้าจอมมารดาอำภาถือกำเนิดที่มณฑลฮกเกี้ยน มารดาเป็นคนจีน เพราะเป็นธรรมเนียมของคนจีน ผู้ชายจีนเมื่ออพยพไปอยู่ต่างถิ่น จะต้องกลับไปแต่งงานที่เมืองจีน เพื่อให้ภรรยาเป็นภรรยาหลวง แล้วย้อนกลับมาทำงานในเมืองไทย มีภรรยาเป็นคนไทย
อย่างไรก็ตาม พระยาอินทรอากรได้ค้าสำเภาตลอด การไปมาระหว่างกรุงสยามกับเมืองฮกเกี้ยนจึงไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อบิดาแก่ชรา อยากกลับบ้าน เพื่อไปตายที่บ้านเกิด จนจีนเรียกว่าไปตึงซัว คนจีนที่มาอยู่เมืองไทยมีความคิดแบบนี้แทบทั้งนั้น
เมื่อเจ้าจอมมารดาอายุยังเล็กถูกมัดเท้าให้เล็ก ตามธรรมเนียมจีนซึ่งถือว่าสวยงาม แต่ความเป็นจริงไม่เช่นนั้น เมื่ออายุได้ ๘ - ๑๐ ขวบ บิดาได้นำมาอยู่ด้วยที่เมืองไทย แล้วแก้เท้าออก ให้ศึกษาตามธรรมเนียมไทย ต่อมาบิดาได้นำตัวไปถวายตัวเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ ได้หัดรำจนสวยงามและได้ แสดงละครเรื่องอิเหนา เป็นตัวกาญจหนา คนจึงเรียกท่านว่า อำภากาญจหนา ต่อมาท่านได้เป็นครูละครของหลวงซึ่งชื่อของท่านยังอยู่ในทำเนียบครูโขนละครมาจนปัจจุบัน
จากข้อเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ( โครงกระดูกในตู้, ๒๕๑๔ ) ตอนหนึ่งได้กล่าวว่า
สายหยุดพุดจีบจีน
เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์
คนทั้งวังเขาชังเจ้านัก
แต่พี่รักเจ้าคนเดียว
คำกาพย์นี้ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้ง แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่คนในสกุลปราโมชแต่ก่อนยืนยันว่า เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานให้แก่เจ้าจอมมารดาอำภา ความจริงพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้ง และพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โดยเฉพาะที่เป็นกาพย์เห่เรือชมเครื่องเสวย แต่ก่อนก็นึกกันว่าเป็นพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง เพิ่งมาทราบกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯในภายหลัง
กาพย์ข้างต้นนี้ ถ้าถือว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระราชทานให้แก่เจ้าจอมมารดาอำภาก็ดูจะเข้าเค้ามากกว่า
สายหยุดพุดจีบจีน นั้นตรง เพราะเจ้าจอมมารดาอำภาเป็นคนจีน
เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์ ก็ตรงอีก เพราะเจ้าจอมมารดาอำภาเป็นลูกเจ้าสัวเตากระทะร่ำรวยมาก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงมีราชศักดิ์เป็นล้นพ้น
คนทั้งวังเขาชังเจ้านัก นั้นก็น่าจะตรง เพราะความเป็นเจ้าจอมที่โปรดปราน ความมีทรัพย์ และความเป็นเจ๊กเป็นจีน น่าจะทำให้คนทั้งวังอิจฉาริษยาและเกลียดชังได้มาก
แต่พี่รักเจ้าคนเดียว นั้นตรงทีเดียว เพราะในบรรดาเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ นั้น ปรากฏว่าเจ้าจอมมารดาอำภาประสูติพระราชโอรสธิดาถึง ๖ พระองค์ มากกว่าเจ้าจอมมารดาใดๆทั้งหมด ถ้ามิใช่เพราะ แต่พี่รักเจ้าคนเดียว แล้วก็คงจะไม่มีมากพระองค์ถึงเพียงนั้น...
รัชกาลที่ ๒ คงจะได้ทอดพระเนตรละครที่ท่านแสดงและทรงปฏิพัทธ จนได้เป็นสนมในพระองค์และมีพระราชโอรสธิดารวม ๖ พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าชายกปิตถา ทรงกรมเป็น กรมหมื่นบริรักษ์ในรัชกาลที่ ๔ ได้ว่าราชการในกรมพระอาลักษณ์ เป็นต้นสกุล กปิตถา
พระองค์เจ้าชายปราโมช รัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นวรจักรานุภาพ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ได้ทรงกำกับกรมพระนครบาล กรมหมอ กรมช่างเคลือบช่างหุงกระจก กรมญวนหก ได้ว่า กรมท่า เป็นต้นสกุล ปราโมช
พระองค์เจ้าชายเกยูร
พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา
พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี
พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี
เจ้าจอมมารดาอำภาเป็นคนเจ้าระเบียบ ทั้งมารยาทและการแต่งกายแบบนางในตลอดชีวิต คือ นุ่งผ้าจีบและห่มสไบสีตามวัน เมื่อชาววังเปลี่ยนมาโจงกระเบน ท่านมิได้เปลี่ยนตาม ส่วนภาษาจีน ท่านมิได้ลืม และยังได้สอนภาษาจีนให้กับเจ้านายผู้หญิงในกรมขุนวรจักรธรานุภาพด้วย เมื่อญาติพี่น้องที่เมืองจีนเข้าไปพบท่านที่ในวัง ท่านก็พูดภาษาจีนด้วย
เจ้าจอมมารดาอำภานั้นท่านมีความจงรักภักดีในรัชกาลที่ ๔ ขณะทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยการทำเครื่องเสวยคาวหวานและผลไม้ ส่งออกมาจากในวังไปถวายเพลเป็นครั้งคราวมิได้ขาด และยังได้นำพระองค์เจ้าปราโมชบุตรคนเล็กของท่านไปถวายเป็นศิษย์รัชกาลที่๔
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า ด้วยความจงรักภักดีอันแน่นแฟ้น ที่เจ้าจอมมารดาอำภามีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดาอำภาว่า แม่ภา แต่เพียงคนเดียวในบรรดาเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ นับว่าทรงยกย่องเป็นพิเศษ ท่านผู้อื่นนั้นตรัสเรียกหรือตรัสถึงแต่นามเฉยๆ มิได้ทรงใช้คำว่า แม่นำหน้านาม
เจ้าจอมมารดาอำภาจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในสกุลแซ่หลิน
*********
|