เทศกาลวันสารทขนมจ่าง

ขนมกี่จ่าง
เทศกาลวันสารทขนมจ่างหรือ จ้งจือ 粽子 หรือขนมจ้าง หรือบะจ่าง หรือบ๊ะจ่าง หรือเทศกาลแข่งเรือมังกร ซึ่งได้จัดต่อเนื่องกันมากว่า๒๓๘๐ ปีแล้วในวันที่ ๕ ค่ำเดือน ๕ เพื่อระลึกถึงขุนนางตงฉินชื่อ ชวีเอวี๋ยน หรือ จูหงวน หรือจูหยวน หรือคุกง้วน หรือคุกง้วง ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยจ้านกว๋า หรือสมัยสงครามระหว่างรัฐในช่วงหลัง ซึ่งขณะนั้นเหลือเพียงรัฐใหญ่ ๗ รัฐ มีรัฐฉินและรัฐฉู่เป็นใหญ่ ชวีเอวี๋ยนรับราชการในรัฐฉู่ เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้ายในพระเจ้าฉู่หวางหรือฌ้ออ๋องแห่งเมืองอิง มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองและได้พัฒนาการเมือง ผลผลิต ตลอดจนความสันพันธ์ระหว่างรัฐ แต่ถูกพวกขุนนางกังฉินใส่ร้ายป้ายสี ด้วยขัดผลประโยชน์ของพวกเขา จึงถูกพระเจ้าฉู่หวางปลดออกจากตำแหน่ง เขาจึงเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วแดนรัฐฉู่ แล้วเขียนกวีนิพนธ์พรรณนาถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ป่าไม้เทือกเขาแม่น้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวรัฐฉู่และแสดงถึงความรักชาติบ้านเมืองของเขาไว้หลายเรื่อง เขาหวังว่าจะได้เข้ารับราชการอีกเพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐฉู่ แต่พระเจ้าฉู่หวางก็ไม่ได้สนใจ ในขณะที่รัฐฉู่มีกองทัพรัฐฉินยกมาประชิดเมืองอิงกว่าหกแสนคน ประมาณปีก่อน ค.ศ. ๒๗๖
ด้วยความเสียใจที่ประเทศชาติจะต้องล่มจม ในฐานะที่ตนเป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์รัฐฉู่และเคยเป็นขุนนางชั้นสูง แต่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ดังนั้นในวันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๕ ก่อนค.ศ. ๒๗๘ เขาจึงฆ่าตัวตายด้วยการกระโจนลงในแม่น้ำมี่เหลิวในเมืองอิง ฝ่ายชาวเมืองอิงต่างช่วยกันเอาเรือหางยาวพากันไปงมหา ตลอดสองฝั่งแม่น้ำตลอดสายก็ไม่พบร่างของเขา เมื่อย่างเข้าวันที่สองที่สามชาวเมืองต่างเกรงกันว่า พวกสัตว์น้ำจะไปแทะเนื้อเขา จึงลงเรือเอาไม้พายตีพื้นน้ำ และร้องเสียงดังเพื่อไล่พวกปลา พร้อมกับเอาขนมจ่าง และอาหารโยนลงไปในน้ำให้พวกสัตว์น้ำกิน จะได้ไม่ไปแทะกินเนื้อของเขา ปีต่อมาชาวเมืองอิงจึงทำพิธีระลึกถึงเขาด้วยลงเรือไปกลางแม่น้ำแล้วโยนขนมจ่างลงไป ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา และได้เปลี่ยนแปลงการสักการะเขาด้วยการนำขนมจ่างไปไหว้ที่ศาลเจ้า หรือที่บ้านรวมทั้งบรรพบุรุษของพวกเขาในวันดังกล่าวด้วย
ขนมจ่าง 粽子
ขนมจ่าง หรือ จ้งจือ หรือ จ่าง หรือ กี่จ่าง หรือ บ๊ะจ่าง หรือบั๊กจ่าง หรือขนมจ้าง หรือ จุ้ง แล้วแต่การเรียกขานตามท้องถิ่นของตน ขนมจ่างทำด้วยข้าวสารเหนียว ห่อด้วยใบไผ่มัดด้วยเชือกแล้วเอาไปต้มน้ำให้สุก ต่อมาได้พัฒนาด้วยการเอาไส้เมล็ดพืชหรือเนื้อสัตว์ใส่เข้าไปด้วย
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี่ได้ลงข่าวเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ว่า หลิวซื่อจง นักวิจัยสถาบันโบราณคดีแห่งมณฑลเจียงซีได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีหลุมศพแห่งหนึ่ง ที่หมู่บ้านเอียงเฉียว ตำบลเป่าต้า อำเภอเต๋ออัน มณฑลเจียงซี เมื่อชาวบ้านปรับที่เพื่อทำการติดตั้งที่เก็บน้ำ ได้พบหลุมศพจึงแจ้งให้ทางการทราบ นักวิจัยดังกล่าวจึงเข้าไปทำการขุดค้น ปรากฏว่าเป็นหลุมศพของสตรี จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ปรากฏว่าอยู่ในสมัย พ.ศ. ๑๘๑๗ ตรงกับรัชสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ฮ่องเต้ซ่งตู้จง (จ้าวฉี )เป็นปีเสี่ยนฉุนที่ ๑๑ หรือสมัยฮ่องเต้ซ่งกงตี้ ( จ้าวเสี่ยน ) ปีเต๋ออวี้ที่ ๑ ในหลุมศพได้พบขนมจ่างสองลูก แขวนอยู่ปลายกิ่งไม้ต้นท้อยาว ๔๐ เซนติเมตร ทั้งสองข้างข้างละลูก ขนมจ่างเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมปิระมิด ฐานกว้าง ๖ เซนติเมตร อีกสองด้านกว้าง ๔ และ ๓ เซนติเมตร ห่อด้วยใบไผ่รวก มัดด้วยเส้นป่านรามี ขนมจ่างนี้ในสมัยโบราณใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและพิธีฝังศพ เพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาลูกหลาน และผู้ตายมีความสุข ขนมจ่างสองลูกนี้จึงเป็นขนมจ่างที่เก่าแก่ที่สุด คือมีอายุถึง ๗๓๔ ปี ( ๒๕๕๑ )
ขนมจ่างมีมากมายหลายรูปแบบในปัจจุบัน แต่เดิมในสมัย
ชวีเอวี๋ยนทำด้วยข้าวสารเหนียว ห่อด้วยผ้าไหมมัดด้วยเชือกป่านปอแล้วเอาไปต้ม ต่อมาใช้ใบไม้รวกหรือใบไผ่ตงหรือใบบัวห่อ และใบไม้อื่นๆตามท้องถิ่น เช่นใบตอง ใบหล่อ ใบพ้อ ใบมะพร้าว ใบจาก เป็นต้น ส่วนตัวข้าวเหนียว บางแห่งทำด้วยข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียวแป้งข้าวจ้าว แต่เดิมไม่ได้ใส่ไส้ ต่อมาพัฒนารูปแบบด้วยการใส่ไส้ชนิดต่างๆ ตั้งแต่เนื้อไก่ เนื้อหมู เมล็ดถั่วชนิดต่างๆ ไข่เค็ม กุ้งแห้ง เมล็ดเกาลัด สารพัดรูปแบบที่คนคิดดัดแปลงทำขึ้น แต่สรุปแล้วมี ๒ แบบคือ กี่จ่างกับบ๊ะจ่าง
กี่จ่าง คือจ่างดั้งเดิมที่ไม่ได้ใส่ไส้ ส่วนประกอบที่สำคัญคือ ข้าวสารเหนียว น้ำด่างหรือน้ำกี่ ใบไผ่รวกสดหรือไผ่ตงสดขนาดเล็ก เชือกกล้วยหรือเชือกอื่นๆ ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมมัดด้วยเชือกแล้วเอาไปต้มจนสุก กี่จ่างจึงไม่มีของคาวมาเจือปน
บ๊ะจ่าง คือ จ่างที่ใส่ไส้ชนิดต่างๆเช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้งแห้ง ไข่เค็มหรือไข่เป็ดต้มและถั่วชนิดต่างๆเมล็ดพืชอื่นๆเห็ดหอมหรือเห็ดอื่นๆ ห่อด้วยใบไผ่ตงใบใหญ่แห้ง มัดด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟางหรือเชือกอื่น แล้วเอาไปต้ม ปัจจุบันมีจ่างเจด้วย
ขนมจ่างได้พัฒนาไปตามท้องถิ่นต่างๆทั้งในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ส่วนของไทยที่นับว่าเป็นรูปแบบของจ่าง เช่น ขนมต้ม ทางภาคกลางใช้ใบมะพร้าวห่อรูปยาว ที่ภูเก็ตใช้ใบพ้อห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวปิ้ง ซึ่งไม่นับพวกใช้แป้งข้าวเหนียวข้าวจ้าวใส่ไส้ ห่อแล้วเอาไปต้ม นึ่ง ทอด ฯลฯ

ขนมบ๊ะจ่าง
พิธีกรรม
พิธีกรรมเทศกาลวันสารทขนมจ่าง หรือเทศกาลแข่งเรือมังกรจัดตามท้องถิ่นต่างๆแตกต่างกันไป
ในส่วนของพิธีการเซ่นไหว้ในวันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๕ ก็มีความแตกต่างกันอีกเช่นเดียวกัน แล้วแต่ใครจะยึดถือปฏิบัติที่สืบเนื่องกันต่อๆมาจากบรรพบุรุษ ชาวฮกเกี้ยนที่ภูเก็ตจะไหว้โดยใช้กี่จ่างใส่จานตั้งที่แท่นบูชาสามแห่งคือ ที่หน้าบ้านป้ายทีกง ในบ้านเทพเจ้าประธานของบ้าน เช่น ปุนเถ่ากง กวนอู พระกวนอิม เป็นต้น และเทพเจ้าเตาไฟคือจ้าวฮุ่นกง ส่วนใหญ่จะไหว้ในตอนเช้า พร้อมธูปเทียนของหอมดอกไม้ หรือจะเพิ่มผลไม้ ตามศรัทธา
แต่บางแห่งจะไหว้กับข้าวด้วย ทำเช่นเดียวกับวันไหว้วันสารทเดือน ๗ แต่บางแห่งจะนำกี่จ่างไปไหว้พร้อมกับวันสารทเดือน ๗ บางแห่งจะนำบ๊ะจ่างไปไหว้ ยกเว้นหน้าพระกวนอิมจะใช้กี่จ่างหรือจ่างเจเท่านั้น
เทศกาลวันสารทขนมจ่างจึงเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมากว่าสองพันปี ที่บรรดาลูกหลานจะได้ระลึกถึงบรรพบุรุษของตน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑
Title : Zong Zi Festival
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian
|